xs
xsm
sm
md
lg

คลังเบนเข็มงบเหลื่อมปีพยุง ศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลังเน้นเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปี วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท พยุงเศรษฐกิจก่อนเป็นอันดับแรก หลังงบ 52 ชะลอ เหตุส่วนราชการไม่กล้าเซ็นสัญญา ชี้ มาตรการภาษีอาจไม่เกิดประโยชน์จริง เหตุความเชื่อมั่นหดหายประชาชนไม่กล้าใช้จ่าย

จากสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองที่เกิดความวุ่นวายขณะนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ หากปีหน้าเศรษฐกิจชะลอตัวลงเหลือ 2% อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ก็จะกระทบกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ขณะที่การใช้มาตรการการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะความเชื่อมั่นหดหาย และไม่สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนและการลงทุนให้เกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะแนวคิดในการปรับโครงสร้างภาษี ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือแม้แต่การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม หากดำเนินการในช่วงนี้อาจจะสูญเปล่าไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต จึงอาจจะหันไปถือเงินสดหรือฝากธนาคารแทนการใช้จ่าย

“ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ และยังมีสัญญาณของการว่างงานที่จะตามมาอีกมากในปีหน้า จากการหดตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และอาจมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ทำให้ประชาชนน่าจะลดการบริโภคลงอีกในระยะต่อไป หลังจากที่เริ่มเห็นสัญญาณเกิดขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมาแล้ว เช่น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลง” แหล่งข่าวกล่าวและว่า การเพิ่มวงเงินงบประมาณขาดดุลอีก 1 แสนล้านบาท เป็น 3.5 แสนล้านบาทนั้น ก็อาจจะไม่สามารถใช้ได้ทัน เพราะแม้แต่งบที่จัดสรรไว้แล้วในปี 2552 เองก็อาจจะสะดุด โดยดูจากการเบิกจ่ายเดือนตุลาคมทีผ่านมายังเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากส่วนราชการต่างๆ ไม่กล้าประกวดราคา หรือลงนามจัดซื้อจัดจ้าง และบางโครงการต้องรอนโยบายแนวทางที่ดีที่สุด จึงควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปี ที่ตกค้างมาจากปี 2549-2551 ที่ยังมีเงินเหลืออีกประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้มีโครงการ และมีการเตรียมแผนใช้เงินไว้แล้วหากเร่งเบิกจ่ายออกไปก็จะช่วยด้านการลงทุนและการจ้างงานได้ส่วนหนึ่ง

ส่วนการใช้นโยนบายการเงินทั้งการลดดอกเบี้ย หรือการช่วยเหลือสภาพคล่องทางการเงินก็อาจจะไม่เกิดประโยชน์ เพราะเอกชนไม่กล้าลงทุน เนื่องจากไม่มีความต้องการซื้อสินค้าทั้งจากในประเทศ และตลาดต่างประเทศ โดยเห็นได้จากการส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างมาก นอกจากนั้น การใช้งบประมาณเพิ่มเติมนั้น มองว่า ควรหันไปจัดสรรลงที่ภาคเกษตรมากกว่าด้านอื่นๆ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาว่างงานที่จะมากขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจมีแรงงานหันเข้าไปสู่ภาคเกษตรมากขึ้น โดยสินค้าเกษตรน่าจะเป็นกลุ่มที่ยังสามารถจำหน่ายและส่งออกได้ดีท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ

“รัฐบาลจึงไม่ควรก่อหนี้ หรือขาดดุลงบประมาณมากเกินไป แม้ว่าในกรอบความยั่งยืนการคลังจะให้ขาดดุลได้ถึง 4.3 แสนล้านบาท แต่ก็ควรรักษาวินัยการคลังเอาไว้” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น