ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดการณ์ กนง.หั่นดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุม 3 ธ.ค.นี้ ตามทิศทางตลาดโลก หลังเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลาย พร้อมมองว่า สถาบันการเงินยังลดดอกเบี้ยตามสัญญาณไดเยาก เพราะมีต้นทุนที่สูงขึ้น
วันนี้ ( 28 พ.ย.) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบสุดท้ายของปีนี้ในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 อาจมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน หรือดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อยร้อยละ 0.25 แต่ก็ยังไม่ละเลยกรณีที่ กนง.อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% เพื่อประคับประคองเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม
ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.หากเกิดขึ้นตามที่คาด ก็คงจะเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยของประเทศส่วนใหญ่ในโลก
อย่างไรก็ตาม ขนาดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ในการประชุมรอบนี้ คงจะขึ้นอยู่กับมุมมองหรือดุลพินิจของ กนง. ซึ่งจะประเมินผลกระทบจากปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอย่างไร รวมถึงประเด็นการส่งผ่านนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายดังกล่าวไปสู่ตลาดการเงินและภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงว่าจะมีประสิทธิผลและใช้ระยะเวลามากน้อยเพียงใดอีกด้วย
ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อบรรเทาเบาบางลงมาก และเอื้อต่อการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งตลาดได้มีการปรับตัวรับการคาดการณ์ต่อแนวโน้มนโยบายอัตราดอกเบี้ยขาลงของ กนง.ไปบ้างแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากการปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยแล้ว เป็นที่คาดการณ์ว่าทางการไทยคงจะจับตาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อให้พร้อมที่จะดำเนินนโยบายและมาตรการตามความจำเป็น โดยเฉพาะในด้านการดูแลความเพียงพอของสภาพคล่องในระบบการเงิน ตลอดจนความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เพื่อมุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินนั้น แม้ว่า กนง.จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ไม่ว่าด้วยขนาดมากน้อยเท่าใด แต่ประเด็นที่ยังคงต้องติดตามและเป็นความท้าทาย คือการบริหารกลไกการส่งผ่านนโยบายอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง
เพราะท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศ ได้ส่งผลให้สถาบันการเงินยังคงมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษและตราสารทางการเงินที่ระดับอัตราดอกเบี้ยจูงใจเพื่อระดมเงินและเพื่อให้มั่นใจว่าตนมีสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอสำหรับรองรับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต้นทุนในระบบการเงินที่ยังคงปรับขึ้นนี้ อาจทำให้เป็นการยากที่สถาบันการเงินจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยอื่นๆ ลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการ