บริษัทเอกชนในสหรัฐฯ จำนวนกว่า 300 แห่ง กำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องหาย หลังกฎหมายใหม่บังคับให้จ่ายเงินเพิ่มเข้ากองทุนบำนาญ หากสัดส่วนลดลงจากปัญหาวิกฤตการเงิน พร้อมส่งหนังสืออ้อนสภาคองเกรส ระงับใช้มาตรการจ่ายเงินเข้ากองทุนบำนาญ ขณะที่สหรัฐฯ กำลังเปลี่ยนผ่านสู่สังคมในรูปแบบรัฐสวัสดิการ หันหลังให้ระบบทุนเสรี
วันนี้ (12 พ.ย.) บริษัทเอกชนกว่า 300 แห่งในสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ (สภาคองเกรส) ระงับการใช้มาตรการบังคับให้บริษัทต่างๆ จ่ายเงินเพิ่มเติมเข้าสู่กองทุนบำนาญ เนื่องจากมาตรการดังกล่าว อาจกดดันให้บริษัทต้องปลดพนักงาน
รายงานระบุถึงบริษัทต่างๆ อาทิ ไฟเซอร์ , โบอิ้ง , ไครซ์เลอร์ , เวอไรซอน คอมมิวนิเคชั่นส์ , คราฟท์ ฟู้ด และ ซิกน่า เป็นตัวอย่างบางส่วน ที่ร่วมกันยื่นจดหมายต่อสภานิติบัญญัติ โดยระบุว่า สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน กำลังส่งผลให้สินทรัพย์ในกองทุนบำนาญของแต่ละบริษัทมีมูลค่าลดลง ทำให้หลายบริษัทต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมจำนวนมหาศาลให้ครบตามข้อกำหนดของสภาครองเกรส จนกดดันให้บริษัทอาจต้องลดจำนวนพนักงานเพื่อรับมือกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงขอให้สภานิติบัญญัติระงับการใช้มาตรการดังกล่าว
มาตรการดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงต้นปี และจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้กับกองทุนเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ โดยบริษัทใดที่ไม่สามารถทำตามข้อกำหนดได้จะต้องรับโทษตามกฎหมาย
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ขณะนี้ ได้มีสมาชิกในสภาคองเกรส ของพรรคเดโมแครต กำลังเรียกร้องให้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช หนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นให้ความช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่น การให้ความช่วยเหลือและแจกแสตมป์แลกอาหารให้กับผู้ว่างงาน และการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน
ด้านนางแนนซี่ เพโลซี่ โฆษกสภาผู้แทนราษฎรฯ ก็เรียกร้องให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือกับบริษัทผลิตรถยนต์ภายในประเทศด้วย