xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤต Q3 แบรนด์ดังสหรัฐฯ "GM-AIG- Starbucks-Fannie Mae" เกือบสิ้นชื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แผนกู้วิกฤตการเงินสหรัฐฯ ไร้มนต์ขลัง 3 แบรนด์ชื่อดังก้องโลก "GM-AIG- Fannie Mae" ยังไม่พ้นโคม่า "ดอยช์แบงก์" คาดราคาหุ้น GM อาจไม่เหลือมูลค่าในปีนี้ "Fannie Mae" สินเชื่ออสังหาฯ รายใหญ่ ขาดทุนเฉียด 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ เร่งกู้ซากประกันยักษ์ "เอไอจี" ระลอก 2 โดยอัดฉีดเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 1.5 แสนล้านดอลลาร์

วันนี้ ( 11 พ.ย.) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ธนาคารดอยช์แบงก์ เอจี ได้ปรับลดอันดับความน่าลงทุนของหุ้นเจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกในสหรัฐฯ โดยระบุว่า หุ้นจีเอ็ม อาจกลายเป็นหุ้นที่ไม่มีมูลค่าในรอบปีนี้ ส่งผลให้ราคาหุ้นจีเอ็มดิ่งลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 59 ปี

นายร็อด แลช นักวิเคราะห์ของดอยช์แบงก์ ระบุว่า แม้จีเอ็มประสบความสำเร็จในการหลีกเลี่ยงการล้มละลาย แต่เราเชื่อว่าเส้นทางในอนาคตของจีเอ็ม ก็ไม่ต่างอะไรจากบริษัทที่ล้มละลายแล้ว ด้วยเหตุนี้เราจึงแนะนำให้นักลงทุนขายหุ้นจีเอ็ม พร้อมกับปรับลดเป้าหมายราคาหุ้นจีเอ็มลงสู่ระดับศูนย์ ขณะที่นักวิเคราะห์ของบาร์เคลย์ส แคปิตอล และบัคกิงแฮม รีเสิร์ช กรุ๊ป ปรับลดเป้าหมายราคาหุ้นจีเอ็มลงเหลือเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ราคาหุ้นจีเอ็มที่ร่วงลงอย่างหนัก กำลังสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนมีมุมมองในด้านลบต่อผลประกอบการของจีเอ็ม เนื่องจากบริษัทถูกกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการณ์สินเชื่อและยอดขายที่ตกต่ำสุดในรอบ 15 ปี ซึ่งทำให้จีเอ็มต้องหันหน้าเข้าพึ่งรัฐบาลสหรัฐเนื่องจากมีสภาพคล่องหมุนเวียนไม่เพียงพอที่จะดำเนินธุรกิจในปีนี้

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า ซีอีโอของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ ได้แก่ จีเอ็ม , ฟอร์ด มอเตอร์ โค และไครสเลอร์ แอลแอลซี เข้าพบนางแนนซี่ เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐที่กรุงวอชิงตันเพื่อขอให้รัฐบาลจัดหาเงินช่วยเหลือหลายพันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ในสหรัฐฯ ดิ่งลงอย่างหนักในเดือนที่แล้วสู่ระดับที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 และจีเอ็ม ค่ายรถสหรัฐซึ่งตั้งอยู่ในเมืองดีทรอยต์ รายงานผลประกอบการขาดทุนแล้วเกือบ 70 หมื่นล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2547 และเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จีเอ็มเปิดเผยตัวเลขขาดทุนไตรมาสสาม 2.5 พันล้านดอลลาร์

แม้ว่าก่อนหน้านี้ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ จะกล่าวถึง มาตรการในการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ โดยถือเป็น "ภารกิจเร่งด่วน" ซึ่งรัฐบาลควรจัดหาเงินทุนให้อุตสาหกรรมดังกล่าวให้มากเท่าที่จำเป็น พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้นโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในสหรัฐ รวมถึงการสนับสนุนให้มีการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน

**แฟนนี เม Q3 ขาดทุนบักโกรก 3 $หมื่นล.

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเพิ่มเติมว่า แฟนนี เม สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ลูกค้าอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งได้ตกเป็นของรัฐบาลไปแล้ว พร้อมกับบริษัท เฟรดดี แมค เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะนี้ แฟนนี เม กำลังประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

แฟนนี เม เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 3 ในปีนี้ของธนาคาร ซึ่งขาดทุนมหาศาลถึง 28,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือจำนวนสูงกว่า 985,660 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ขาดทุนเพียง 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 47,600 ล้านบาท อันเนื่องมาจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาอย่างหนัก นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจลุกลามไปทั่วโลก

โดยแฟนนี คาดว่า จนถึงสิ้นปีนี้ ราคาบ้านและอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ จะลดลงอีกเฉลี่ย 7-9%

สำหรับแฟนนี เม และเฟรดดี แมค เป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ลูกค้าอสังหาริมทรัพย์เกือบครึ่งหนึ่งของลูกค้าซื้อบ้านทั้งประเทศ แต่เผชิญวิกฤตการเงิน และขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จนรัฐบาลสหรัฐต้องเข้าอุ้มกิจการเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้สถาบันการเงินทั้งสองล้มละลาย

**รบ.สหรัฐฯ เร่งกู้ซาก "เอไอจี" ระลอก 2

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับแผนฟื้นฟูวิกฤตการเงินในประเทศครั้งที่ 2 โดยประกาศว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจสนับสนุนประมาณเพิ่มเติมช่วยเหลือบริษัท อเมริกัน อินเตอร์แนชชันแนล กรุ๊ป (เอไอจี) เพื่อช่วยยักษ์ใหญ่ด้านประกันภัยของประเทศจากวิกฤตขาดสภาพคล่อง เนื่องจากผลการประเมินมาตรการช่วยเหลือในครั้งแรก เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ไม่สามารถช่วยสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้กับเอไอจีได้

ดังนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ จึงได้เพิ่มวงเงินช่วยเหลือเอไอจีอีก 150,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5.1 ล้านล้านบาท ซึ่งการอัดฉีดครั้งนี้ เฟดเชื่อว่า เอไอจีจะใช้เงินจำนวนดังกล่าวในการจ่ายคืนให้กับผู้ค้า และผู้เสียภาษีได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

รายงานจากสำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น ยังระบุเพิ่มเติมว่า แผนฟื้นฟูใหม่ดังกล่าวยังได้จำกัดวงเงินโบนัสประจำปีแก่ ผู้บริหารระดับสูง 70 ตำแหน่งของเอไอจี อีกด้วย

นับเป็นครั้งแรกที่เม็ดเงินสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 700,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 23 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลลงมติสนับสนุนเมื่อเดือนที่แล้ว กระจายไปยังบริษัทใดบริษัทหนึ่งมากกว่าธนาคารพาณิชย์

ขณะเดียวกัน เอไอจีรายงานผลประกอบการไตรมาส 3 ปีนี้ ระบุว่า บริษัทต้องสูญรายได้ถึง 2.45 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 8.55 แสนล้านบาท หรือลดลง -0.8% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2550 มาอยู่ที่ 1.17 หมื่นล้านดอลาร์ หรือประมาณ 4.08 แสนล้านบาท ในปีนี้

**กาแฟดัง "สตาร์บัคส์" พับแผนลงทุนทั่วโลก

นายโฮเวิร์ด ชูลท์ซ ซีอีโอบริษัท สตาร์บัคส์ คอร์ป (Starbucks Corp.) ประกาศล้มเลิกความหวังที่จะขยายสาขาเพิ่มเติมอีก 40,000 สาขา หลังผลกำไรของบริษัทร่วงหนักถึง 96% ในไตรมาส 4 ปีนี้

ทั้งนี้ ราคาหุ้นสตาร์บัคส์ร่วงหนักเมื่อวานนี้ หลังมีการเปิดเผยว่า ในปีนี้กำไรต่อหุ้นของบริษัทอาจต่ำสุดที่ 71 เซนต์ หรือสูงสุดไม่เกิน 90 เซนต์ ขึ้นอยู่กับว่ายอดขายร่วงลงแค่ไหน

โดยยอดขายของร้านสตาร์บัคส์ในสหรัฐฯ ที่เปิดทำการอย่างน้อย 13 เดือน ลดเกินคาดกว่า 8% เนื่องจากผู้บริโภคต้องลดค่าใช้จ่ายเพื่อรับมือกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่สูงขึ้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สตาร์บัคส์ ต้องให้ความสำคัญกับกำไรมากกว่าการขยายสาขา

สตาร์บัคส์เผยว่ารายได้สุทธิไตรมาส 4 ร่วงแตะ 5.4 ล้านดอลลาร์ หรือ 1 เซนต์ต่อหุ้น จาก 158.5 ล้านดอลลาร์ หรือ 21 เซนต์ต่อหุ้นเมื่อปีที่แล้ว หากไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการยุบสาขาและค่าชดเชยการเลิกจ้างพนักงาน รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ 10 เซนต์ต่อหุ้น หรือน้อยกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ 3 เซนต์

นางเอมิลี่ แซนเดอร์ส ซีอีโอบริษัท แซนเดอร์ส ไฟแนนเชียล แมเนจเมนท์ ในแอตแลนต้า กล่าวยอมรับว่า สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจร้านกาแฟ พร้อมระบุว่า ตอนนี้ พวกเขากำลังดำเนินธุรกิจด้วยความยากลำบาก เหมือนกับการเข็นครกขึ้นภูเขา
กำลังโหลดความคิดเห็น