xs
xsm
sm
md
lg

"วิโรจน์" ชี้ทางรอดแบงก์ ลดสเปรดปลดแอกลูกค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อดีตนายแบงก์กรุงไทย "วิโรจน์ นวลแข" ชี้ทางรอดระบบสถาบันการเงินเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของวิกฤตการเงินโลก "ธปท.-นายแบงก์" ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ชี้สเปรดที่สูงปรี๊ดต้องแก้ไขด่วนหั่นเหลือไม่เกิน 2% ลดภาระลูกค้าที่ถูกแบงก์ขูดรีดไปจ่าย ธปท. ระบุ "ผู้ฝาก-ผู้กู้" ต้องเป็นศูนย์กลาง บริหารความเสี่ยงดูฐานะลูกค้าไม่ใช่ฐานะแบงก์ แก้ปัญหาสภาพคล่องล้นแต่ไม่ถึงมือเรียลเซ็คเตอร์ เตือนหากไม่ทำ เศรษฐกิจล่มสุดท้ายแบงก์เจ๊งเป็นวัฏจักร ยอมรับผวา ธปท.ติดเชื้อแฮมเบอร์เกอร์จากการลงทุนบอนด์

นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) เปิดเผยว่า ในสถานการณ์ที่ตลาดการเงินและสถาบันการเงินโลกมีความไม่แน่นอนในขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แและธนาคารพาณิชย์เงินจะต้องปรับวิธีคิด นโยบายและการบริหารงานเพื่อความอยู่รอดของระบบสถาบันการเงินและเศรษฐกิจไทยที่ยั่งยืน ซึ่งปัญหาประการแรกซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนคือส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก (สเปรด) ที่มากว่าร้อยละ 4 ในขณะนี้นับว่าสูงเกินมาตรฐานที่ควรจะเป็นคือร้อยละ 2

การโขกส่วนต่างดอกเบี้ยที่สูงดังกล่าว เป็นเพราะธนาคารพาณิชย์มีภาระนำส่งค่าธรรมเนียมให้ ธปท.รายปีโดยคิดร้อยละ 0.4 จากฐานเงินฝากแต่ละธนาคาร แต่ธนาคารกลับผลักภาระดังกล่าวไปให้ลูกค้าด้วยนำ 0.4% ไปหักลบจากดอกเบี้ยที่จะจ่ายแก่ลูกค้าเงินฝาก ขณะเดียวกันเมื่อปล่อยสินเชื่อ ธนาคารก็จะไปบวกเพิ่มในดอกเบี้ยเงินกู้

"การเรียกเก็บค่าต๋งของแบงก์ชาติคือที่มาของการเอาเปรียบลูกค้า ดังนั้นแบงก์ชาติต้องเปลี่ยนรูปแบบ แทนที่จะเก็บค่าต๋ง 0.4% ของเงินฝากแต่ละแบงก์ ควรการเก็บเพิ่มค่าใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) แบบรายปี หากแบงก์ไหนทนไม่ได้ก็ควรขายหุ้นให้นักลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ ไม่ใช้ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งของประเทศผูกขาดเป็นเจ้าของแบงก์ไปตลอด" นายวิโรจน์กล่าวและว่า หากธนาคารพาณิชย์มีปัญหา ธปท.ต้องสั่งให้เพิ่มทุน ไม่ควรใช้วิธีการอัดฉีดเงินกู้ในรูปแบบสภาพคล่อง และหากเพิ่มทุนไม่ได้ การช่วยเหลือของ ธปท.ก็ควรเป็นการซื้อหุ้นเหมือนที่ธนาคารกลางอังกฤษกำลังใช้แก้ปัญหาสถาบันการเงินในประเทศอยู่ในขณะนี้

***ปล่อยกู้ให้ใช้ฐานะลูกค้าเป็นตัวตั้ง

อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ควรลดน้ำหนักฐานะทางการเงินของธนาคารแต่ควรใช้ฐานะของลูกค้าเป็นตัวตั้งในการปล่อยสินเชื่อ หลักการปล่อยสินเชื่อต้องพิจารณาผลประกอบการของลูกค้าและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในกิจการนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น การขึ้นลงของราคาน้ำมันกับผลกระทบบริษัท ป้องกันปัญหาสภาพคล่องในระบบสูงแต่ลูกค้าปิดกิจการเพราะธนาคารไม่ปล่อยกู้ เนื่องจากกลัวว่าการปล่อยกู้เพิ่มกับลูกค้าจะให้เกิดหนี้เสีย

"การให้ความสำคัญกับสภาพคล่องในระบบและมองฐานะตัวเองเป็นหลัก สร้างความเสียหายต่อเรียลเซ็คเตอร์และระบบเศรษฐกิจ ท้ายที่สุดแล้วแบงก์เองก็จะอยู่ไม่ได้ แบงก์ชาติก็เข้าไปอุ้มด้วยการปล่อยเงินกู้ให้แบงก์ หากไม่ยกเครื่องกันใหม่ วัฏจักรแบบนี้จะเวียนวนไม่รู้จักจบสิ้น" นายวิโรจน์กล่าวและว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ ธปท.ได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์ที่ลุกลามเป็นวิกฤตสถาบันการเงินจากการเข้าไปลงทุนตราสารเช่นเดียวกับที่ธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่บางแห่งไปลงทุน

ทั้งนี้ ธปท.แถลงผลกระทบจากวิกฤตการเงินสหรัฐและยุโรปต่อสถาบันการเงินไทยว่ามีการกู้ยืมเงินและลงทุนตราสารประมาณ 3.6 พันล้านเหรียญ หรือ 1.2 แสนล้านบาท

***จี้เลิกกำหนดค่าฟีให้โบรกฯ 0.25%

นายวิโรจน์ยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวตลาดหุ้นในขณะนี้ว่า การขึ้นลงยังคงเป็นไปตามตลาดหุ้นต่างประเทศ ไม่ใช่ 6 มาตรการของรัฐส่วนตลาดหุ้นที่ผันผวน เต็มไปด้วยการเก็งกำไร มีแต่มูลค่าการซื้อขายมากกว่าคุณภาพ สิ่งดังกล่าวเกิดจากการแข่งขันด้านราคา เพราะการที่โบรกเกอร์กำหนดค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นร้อยละ 0.25 เป็นอุปสรรคในการพัฒนาตลาดหุ้น หมิ่นเหม่ขัดกฎหมายค้าขายที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากค่าคอมมิชชันกำหนดตายตัว

"โบรกเกอร์ควรหารายได้จากแหล่งอื่นแทนการเก็บแบบตายตัวจากคนเล่นหุ้น อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าตลาดหุ้นไทยตอนนี้มีหุ้นหลายกลุ่มราคาต่ำ เหมาะที่นักลงทุนจะเข้าซื้อ โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นกลุ่มน้ำมัน โทรศัพท์และกลุ่มอุปโภคบริโภค ถ้าพิจารณาจากเงินปันผลถือว่าคุ้มค่า ดีกว่าฝากเงินกับแบงก์อย่างแน่นอน"

***เสนอใช้ภาษีกระตุ้น ศก.โตยั่งยืน

นายวิโรจน์กล่าวเห็นด้วยกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจไทยต้องมีการขยายตัว แต่ทำอย่างไรจึงสามารถส่งเสริมการลงทุน จ้างงานเพิ่ม ผลผลิตเพิ่มอย่างแท้จริง ตนเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลหลงทาง มีการใช้มาตรการภาษีที่จูงใจเพียงเล็กน้อยแลกกับการควักเนื้อ เฉือนรายได้เพื่อคะแนนเสียงทางการเมือง ทั้งๆ ที่มีวิธีการให้เครดิตภาษีโดยรัฐบาลมีรายได้จากการจัดเก็บเพิ่มขึ้น เอกชนสามารถขยายผลกิจการ ประชาชนมีงานทำมากขึ้น

"เช่น การให้สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่จ้างคนงานเพิ่มเพื่อผลิตสินค้าเพิ่ม โดยการให้ลูกจ้างใหม่เครดิตภาษีได้ 2 เท่า หรือถ้ารับคนเพิ่ม ลูกจ้างเดิมก็จะได้เครดิตเพิ่ม 1.5 เท่า ถ้าทำอย่างนี้ในทางกลับกันคนงานเดิมก็จะได้เงินเดือนเพิ่มไปด้วย เศรษฐกิจก็จะโตแบบมีคุณภาพ" นายวิโรจน์เสนอแนวทาง
กำลังโหลดความคิดเห็น