xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊ก ปตท.โวยขาดทุน LPG หลังแอ่น ลุ้นรัฐบาลใหม่สรุปขึ้นราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้บริหาร ปตท.ครวญต้องรับแบกภาระขาดทุน “แอลพีจี” หลังแอ่น เพราะนำเข้าแพง แต่ต้องขายในประเทศราคาถูก เพราะยังไม่สามารถประกาศแยกราคา 2 ตลาดได้ เตรียมอ้อนรัฐบาลชุดใหม่ สรุปขึ้นราคาในภาคขนส่ง พร้อมเสนอแบกรับการนำเข้าในภาครัวเรือนแค่ 1 หมื่นล้าน

วันนี้ (15 ก.ย.) นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่ต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจี (LPG) อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ ปตท.ต้องแบกรับภาระการขาดทุนจากการนำเข้า เนื่องจากมีต้นทุนการนำเข้ามาในราคาแพง แต่กลับต้องขายในประเทศในราคาถูก

ทั้งนี้ ปตท.คงต้องติดตามว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาทำงาน จะดำเนินการต่อไปอย่างไรในเรื่องนี้ ในการประกาศขึ้นราคา LPG ภาคขนส่ง จากที่ผ่านมา ปตท.นำเข้า LPG ไปแล้วถึง 3,000-4,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือน เม.ย.และเว้นมานำเข้าในเดือน ก.ค -ก.ย.และหลังจากนี้ ก็จะนำเข้าในทุกๆ เดือน ซึ่ง ปตท.คงจะต้องแบกรับภาระในส่วนนี้ต่อไป

นายประเสริฐ ยอมรับว่า ขณะนี้ความต้องการใช้ก๊าซหุงต้มยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากปริมาณนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นทุกเดือนนับจากเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เคยนำเข้าอยู่ที่ปริมาณ 22,000 ตัน แต่พอมาในเดือน ก.ย.นี้ เพิ่มมาอยู่ที่ 98,000 ตัน และพอในเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ คาดว่า จะเพิ่มเป็น 140,000 ตัน เนื่องจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท.และโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง ต้องปิดหยุดซ่อมบำรุง

ทั้งนี้ ผลของการนำเข้าก๊าซหุงต้มดังกล่าว นับตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา ถึงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มียอดนำเข้าแล้วประมาณ 190,328 ตัน ส่งผลให้ ปตท.ต้องแบกรับภาระที่ต้องจ่ายเงินออกไปก่อนแล้ว 4,060 ล้านบาท เนื่องจากส่วนต่างของราคานำเข้าก๊าซหุงต้มในตลาดโลกอยู่ที่กว่า 900 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน แต่มาจำหน่ายในประเทศเพียง 332 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ทำให้เกิดส่วนต่างที่ต้องแบกรับภาระถึง 600 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

โดยผลกระทบที่ต้องแบกรับภาระดังกล่าว ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) เมื่อช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมจึงมีมติร่วมกันว่า ปตท.จะรับภาระในการนำเข้าก๊าซ LPG แค่เพียงระดับ 10,000 ล้านบาทเท่านั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของประชาชน และสนองนโยบายประชานิยมของรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนก๊าซหุงต้ม แต่เนื่องจากการดำเนินธุรกิจมีข้อจำกัด การจะแบกรับภาระที่มากจนเกินไปจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ปตท. บอร์ดจึงเสนอกระทรวงพลังงานที่จะเข้าไปแบกรับภาระเพียงเท่านี้ หลังจากที่ขยายกรอบการแบกรับภาระมาครั้งหนึ่งแล้วที่ 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายประเสริฐ ยืนยันว่า ปตท.จะแบกรับภาระได้ไปถึงประมาณต้นปี 2552 เพราะในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ น่าจะต้องแบกรับภาระอีกประมาณ 4,800 ล้านบาท เนื่องจากมีการนำเข้าก๊าซหุงต้มในระดับกว่า 400,000 ตัน เมื่อรวมกับช่วงที่ผ่านมายอดแบกรับภาระในปีนี้จะอยู่ประมาณ 8,860 ล้านบาท และคาดว่า ในช่วงอีก 2-3 เดือนของปีหน้า ยอดรับภาระดังกล่าวจะพุ่งเกิน 10,000 ล้านบาท อย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น