xs
xsm
sm
md
lg

คาดที่ประชุม “เฟด” 16 ก.ย.นี้ มีมติคง ดบ.ที่ระดับ 2%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด การประชุมเฟด 16 ก.ย.นี้ คง ดบ.ที่ระดับ 2% อันเป็นผลจากเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะตลาดแรงงาน-ตลาดที่อยู่อาศัย ขณะที่ปัญหาสถาบันการเงินก็งยังไม่สิ้นสุดลงโดยง่าย ส่วนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่คลายตัวลงตามการร่วงลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เฟดยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยนโยบายในระยะอันใกล้นี้

วันนี้ (12 ก.ย.) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ในวันที่ 16 ก.ย.นี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ย หรือ Fed Funds rate หลังจากที่เฟดได้ตัดสินใจยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ในการประชุมสองรอบหลังสุดที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะในตลาดแรงงานและตลาดที่อยู่อาศัย กอปรกับปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ที่ยังไม่เข้าใกล้จุดสิ้นสุด รวมถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่คลายตัวลงตามการปรับลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เฟดอาจมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ระดับเดิมที่ร้อยละ 2.00 ในการประชุมวันที่ 16 ก.ย.นี้

ศูนย์วิจัยฯ ระบุถึงปัจจัยสนับสนุนการคาดการณ์ดังกล่าว สรุปได้ดังนี้ 1.เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯยังบ่งชี้ถึงความอ่อนแอ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯหลายตัวจะมีทิศทางการปรับตัวที่ดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (อาทิ จีดีพี ไตรมาส 2/2551 (Preliminary หรือตัวเลขทบทวนครั้งที่สอง) ที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 (quarter-on-quarter annualized) เทียบกับร้อยละ 1.9 ซึ่งเป็นตัวเลขที่รายงานครั้งแรก (Advance) และร้อยละ 2.7 ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และดัชนีภาคการบริการของสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM Non-manufacturing Index) เดือนสิงหาคม ที่อยู่ที่ระดับ 50.6 สูงกว่าระดับ 50.0 ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ เป็นต้น)

แต่เมื่อพิจารณาถึงเครื่องชี้ที่สำคัญอีกหลายตัวแล้ว ก็บ่งชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังคงมีความเปราะบางอยู่ โดยเฉพาะในตลาดแรงงานและตลาดที่อยู่อาศัย ซึ่งคาดว่าจะยังคงส่งผลกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

โดยล่าสุด การจ้างงานนอกภาคการเกษตรในเดือนสิงหาคมหดตัวลงเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ในขณะที่อัตราการว่างงานขยับขึ้นสู่ร้อยละ 6.1 สูงสุดในรอบเกือบ 5 ปีหรือนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2546 ส่วนราคาบ้านที่สำรวจโดย S&P/Case-Shiller ก็ยังคงปรับลดลงต่อเนื่องในเดือนมิถุนายน อีกทั้งยอดบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) ในเดือนกรกฎาคม ก็หดตัวลงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน

นอกจากนี้ ปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ที่ยังไม่สิ้นสุด ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินและทำให้ตลาดการเงินฟื้นคืนสู่ภาวะปกติ ทางการสหรัฐฯ ได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างมากและรวดเร็ว ตลอดจนการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องโดยเฟด

โดยล่าสุด กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการกอบกู้กิจการ แฟนนี เม และ เฟรดดี แมค เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นก้าวย่างที่สำคัญที่มุ่งหวังจะพลิกฟื้นความเชื่อมั่นและเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้กับสถาบันทั้งสอง รวมทั้งเพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการของการปล่อยสินเชื่อในตลาดที่อยู่อาศัยสามารถดำเนินการได้ต่อไป

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองว่า แม้การดำเนินมาตรการต่างๆ ของทางการสหรัฐฯ อาจจะช่วยให้ความเสี่ยงในภาคการเงินลดลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็คงจะยังไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐฯ จะสามารถคลี่คลายลงได้อย่างเบ็ดเสร็จในเวลาอันใกล้นี้ โดยคงจะต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง หรือเกือบหนึ่งปี กว่าที่โครงสร้างพื้นฐานของตลาดที่อยู่อาศัยจะสามารถฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป

เป็นที่คาดการณ์ว่า สถาบันการเงินต่างๆ จะยังต้องมีการทยอยปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี (write-down) และเพิ่มทุนเพิ่มเติมอีกในอนาคต โดยจากการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ความเสียหายที่มีต้นตอมาจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ของสหรัฐฯ อาจมีมูลค่ารวม 945 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่สถาบันการเงินทั่วโลกได้มีการเพิ่มทุนรวมกันไปแล้วเพียงประมาณ 500 พันล้านดอลลาร์

ส่วนแรงกดดันเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลง จากราคาน้ำมันดิบตลาดโลก (เบรนท์) ที่ร่วงลงมาที่ระดับ 95.99 ดอลลาร์/บาร์เรล ณ วันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับที่เคยขึ้นไปถึงระดับ 145.36 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อต้นเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา หรือร่วงลงแล้วกว่าร้อยละ 30 ผนวกกับเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มปรับแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก คาดว่า จะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เฟดยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะอันใกล้นี้

ถึงแม้ว่าเฟดจะมองความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อว่ายังคงมีน้ำหนักที่สำคัญอยู่ก็ตาม (โดยล่าสุดในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (core CPI inflation) อยู่ที่ร้อยละ 2.5 year-on-year) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคส่วนบุคคล (core PCE inflation) อยู่ที่ร้อยละ 2.4)

การคาดการณ์ของตลาดที่เป็นไปในทางเดียวกันว่า เฟดคงจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบที่จะถึงนี้ สัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า หรือ Interest rate futures ล่าสุด สะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่มองว่า เฟดคงจะมีมติให้ยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ในการประชุมวันที่ 16 กันยายนนี้ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งในไตรมาส 2/2552

อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดการณ์ด้วยความเป็นไปได้ที่เพิ่มขึ้นมาที่ประมาณร้อยละ 30 ว่า เฟดอาจจำต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 1.75 ในการประชุมปลายปี 2551 นี้ หากความเสี่ยงจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจทั่วโลกมีเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ แม้ว่า ปัญหาในภาคการเงินของสหรัฐฯที่ยังมีอยู่ อาจจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและทำให้ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวผันผวนอย่างต่อเนื่อง แต่ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯที่คาดว่าอาจจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจหลักอื่นๆ (ยูโรโซน และญี่ปุ่น) หลังจากที่ทางการสหรัฐฯได้ดำเนินนโยบายและมาตรการในเชิงที่ผ่อนคลายเพื่อคลี่คลายปัญหาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงินดอลลาร์สหรัฐฯอาจจะยังคงได้รับแรงหนุนให้ปรับแข็งค่าขึ้นในระยะข้างหน้าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่นๆ (หากราคาน้ำมันไม่พุ่งขึ้นมากอีก) ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว ย่อมอาจมีส่วนผลักดันให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ถึงแม้ว่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ จะไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น