xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นร่วงต่อเนื่อง การเมืองกดดันหนัก-ยังไร้ทางออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดัชนีหุ้นไทยเช้านี้ รูดลงอีก 5.58 จุด ตามทิศทางตลาดในภูมิภาค ขณะที่การเมืองในประเทศ เพิ่มแรงกดดันมากขึ้น หลังพรรค พปช.ประกาศดัน “สมัคร” เป็นนายกฯ อีกครั้ง อาจทำให้สิ่งที่พยายามแก้ปัญหากลับไปสู่ทางตันอีกครั้ง แนวโน้มช่วงบ่ายนี้คาดตลาดยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง โดยช่วงเช้านักลงทุนต่างชาติก็ยังคงขายออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้แนวรับไว้ที่ 650 จุด แนวต้านให้ไว้ที่ 660 จุด

ภาวะตลาดหุ้นไทย วันนี้ (10 ก.ย.) ดัชนีปิดภาคเช้าที่ระดับ 658.03 จุด ลดลง 5.58 จุด เปลี่ยนแปลง -0.84% มูลค่าการซื้อขาย 3,822.84 ล้านบาท นักวิเคราะห์ฯเผยตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับตัวลงตามทิศทางตลาดภูมิภาค ขณะที่ประเด็นการเมืองยังสร้างความกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนต่อเนื่อง หลังพรรค พปช. ประกาศดันนายสมัคร สุนทรเวช กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยใช้ช่องทางสภาในการโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ในวันศุกร์นี้ ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองยังคงอึมครึง และไร้ทางออกในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

เมื่อพิจารณาโดยภาพรวม ถือว่าสถานการณ์การเมืองตอนนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยง กำลังเป็นปัจจัยกดดันต่อกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นใจการลงทุนของภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มท่องเที่ยว และ กลุ่มที่เกี่ยวข้องการภาคลงทุนของรัฐบาล กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มวัสดุก่อสร้าง

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการเมืองไทยยังต้องจับตาคดีความซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษกของอดีตนายรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะมีการตัดสินในวันที่ 17 ก.ย.นี้ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้นัด พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา จำเลยที่ 1-2 ฟังคำพิพากษาในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นคู่สมรสเจ้าพนักงานเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียในการทำสัญญากับภาครัฐ ในคดีทุจริตการซื้อขายที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก

ทังนี้ หากมีความผิดจริงจะเป็นการปิดฉากในอำนาจของอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างสมบูรณ์ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับทางพรรคพลังประชาชน ที่สมาชิกโดยส่วนใหญ่ยังคงมีการยึดติดกับทางอดีตนายกรัฐมนตรีอยู่มาก ผลที่ตามมาอาจจะส่งผลไปถึงเสถียรภาพในพรรคพลังประชาชนที่ประเมินว่า อาจจะมีการแบ่งแยกเป็นกลุ่มเป็นขั้วให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลถึงความเป็นเอกภาพเมื่อถึงการเลือกตั้งในครั้งถัดไป

ด้านนักวิเคราะห์ บล.ไซรัส มองว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับตัวลงตามตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ส่วนใหญ่ปรับตัวลง โดยรับผลจาก Commodity ปรับตัวลงกันหมดทั่วโลก โดยเฉพาะเดินเรือและถ่านหินในภูมิภาคปรับตัวลงเฉลี่ย 10% ซึ่งเวลานี้ตลาดฯได้รับแรงกดดันจาก Commodity ค่อนข้างสูง ส่วนภาคการเงินก็ได้รับผลบวกในช่วงสั้นแล้ว หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯให้การช่วยเหลือแฟนนี เม และเฟรดดี แมค แต่ความยุ่งยากเกี่ยวกับภาคการเงินยังต้องใช้เวลาในการแก้ไขต่อไป

สำหรับประเด็นทางการเมืองในประเทศยังคงสร้างความวิตกให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะหากนายสมัคร สุนทรเวช ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก จะสร้างแรงกดดันให้กับตลาดฯแน่ แนวโน้มการลงทุนในช่วงบ่ายนี้ คาดว่าตลาดยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง โดยในช่วงเช้านักลงทุนต่างชาติก็ยังคงขายออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้แนวรับไว้ที่ 650 จุด แนวต้านให้ไว้ที่ 660 จุด

ขณะที่นักวิเคราะห์จาก บล.เกียรตินาคิน เชื่อว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยช่วงเช้า ปรับตัวลดลงเพราะได้รับอิทธิพลจากความกังวลประเด็นการเมือง ซึ่งนอกจากจะเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งที่ลุกลามในวงกว้างแล้วยังก้าวเข้าสู่ภาวะสุญญากาศอย่างเต็มตัว หลังนายสมัครขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 267 ส่งผลให้ ครม.ทั้งคณะขาดคุณสมบัติและถูกถอดถอนไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังคงให้ ครม.เป็นชุดรักษาการเพื่อแต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ ภายในวันศุกร์นี้ ทำให้การบริหารประเทศไม่มีบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำในดำเนินนโยบายต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจสังคม จึงทำให้นักลงทุนมีแรงขายออกมาเพื่อลดความเสี่ยงส่งผลให้บรรยากาศการซื้อขายซบเซา และมูลค่าการซื้อขายเบาบาง

นอกจากนี้ ยังมีแรงกดดันจากตลาดหุ้นต่างประเทศที่ปรับตัวลดลงหลังจากนักลงทุนเทขายหุ้น เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินของ Lehman Brothers Holdings Inc.หลังการเจรจาขายหุ้นให้กับ Korea Development Bank ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าความผันผวนของตลาดเงินจะยืดเยื้อออกไปอีก ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยลบต่อจิตวิทยาการลงทุน

สำหรับแนวโน้มในช่วงบ่ายวันนี้คาดว่าบรรยากาศการซื้อขายคงซบเซาไม่แตกต่างจากช่วงเช้า เนื่องจากภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่ขาดผูนำประเทศ จะกดดันให้นักลงทุนชะลอการลงทุนอยู่นอกตลาดฯ ต่อไปจนกว่าจะได้ความชัดเจนเกี่ยวกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ประเด็นความกังวลอยู่ที่พรรค พปช.ยืนยันว่าจะเสนอนายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ซึ่งหากพรรคร่วมรัฐบาลให้ความเห็นชอบ ก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น เพราะการกลับมาเป็นนายกฯ ครั้งใหม่ของนายสมัครจะต้องเผชิญกับแรงกดดันที่รุนแรงมากกว่าเดิมในแง่ความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น