xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดการเงินคาดยอดหนี้สหรัฐพุ่ง หลังแผนโอน "แฟนนีเม-เฟรดดีแมค"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิเคราะห์ "เครดิต สวิส" ชี้แผนโอนกิจการ "แฟนนีเม-เฟรดดีแมค" เป็นของรัฐบาล อาจส่งผลยอดหนี้สินสหรัฐพุ่งขึ้น

วันนี้ (20 ส.ค.) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นักวิเคราะห์ทางการเงินของโลก กำลังจับตาตลาดการเงินของสหรัฐ หลังรัฐบาลประกาศแผนอุ้มสถาบันสินเชื่อรายใหญ่ โดยนักวิเคราะห์จากธนาคาร เครดิต สวิส กล่าวแสดงความเห็นว่า ความสำเร็จของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รัฐบาลสหรัฐให้การสนับสนุน (GSE) และมีหน้าที่จัดหาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ซื้อบ้าน ที่จะสามารถจ่ายคืนพันธบัตรมูลค่า 2.23 แสนล้านดอลลาร์ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในช่วงปลายไตรมาสสามนั้น จะเป็นปัจจัยที่กำหนดว่าบริษัททั้งสองแห่งจะสามารถหลีกเลี่ยงจากการถูกรวบกิจการเป็นของรัฐบาลได้หรือไม่

ทั้งนี้ แฟนนี เม จะต้องชำระคืนพันธบัตรมูลค่าราว 1.20 แสนล้านดอลลาร์ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 30 ก.ย. ขณะที่เฟรดดี แมค จะต้องชำระคืนพันธบัตรมูลค่าราว 1.03 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งภาวะตึงตัวด้านการเงินของบริษัททั้งสองแห่งเป็นเหตุให้นายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐร้องขออำนาจจากสภาคองเกรสให้กระทรวงการคลังสามารถเข้าซื้อบางส่วนในบริษัททั้งสอง

โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา นิตยสารบาร์รอน รายงานว่า กระทรวงการคลังสหรัฐอาจต้องซื้อหุ้นทั้งหมดของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นการขจัดผู้ถือหุ้นสามัญของบริษัท 2 แห่งและรวบกิจการทั้งหมดมาเป็นของรัฐ อีกทั้งระบุว่าหากแฟนนี เม และเฟรดดี แมค ไม่ประสบความสำเร็จในการระดมทุนครั้งใหม่ ก็อาจกดดันให้รัฐบาลสหรัฐเพิ่มทุนด้วยตัวเอง

นายโมเช โอเรนบุช นักวิเคราะห์จากเครดิตสวิส เชื่อว่า การที่กระทรวงการคลังจะนำเงินของผู้เสียภาษีมาอัดฉีดให้กับบริษัททั้ง 2 หรือโอนกิจการของบริษัทมาเป็นของรัฐ ก็จะยิ่งทำให้หนี้สินของรัฐพุ่งสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นประเด็นที่น่ากังวลมากกว่าการเสริมสภาพคล่อง

ก่อนหน้านี้ อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล โดยยอมรับว่า เขาเห็นด้วยกับรัฐบาลสหรัฐที่ใช้มาตรการกอบกู้วิกฤตของแฟนนี เม และเฟรดดี แมค และกล่าวว่าสถาบันการเงินทั้งสองแห่งควรเป็นสมบัติของชาติและแตกตัวเป็นบริษัทขนาดย่อย

กรีนสแปน ยังกล่าวชี้นำว่า รัฐบาลควรแตกกิจการแฟนนี เม และเฟรดดี แมค และควรดำเนินการให้เป็นสมบัติของชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินทั้งสองถือเป็นโอกาสที่รัฐบาลสหรัฐจะหันมาตระหนักถึงการวางรากฐานด้านการเงินอย่างถูกต้อง และการนำสถาบันการเงินทั้งสองมาเป็นสมบัติของชาติก็เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น