xs
xsm
sm
md
lg

ปิโตรไชน่าพลิกวิกฤตเป็นโอกาส เดินเกมร่วมหุ้นแหล่งผลิตน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พนักงานในปั้มน้ำมันของปิโตรไชน่า
เอเชี่ยน วอลล์สตรีท เจอร์นัล – บ.น้ำมันยักษ์ใหญ่ของจีน “ปิโตรไชน่า” เปลี่ยนวิกฤตเศรษฐกิจให้เป็นโอกาส เตรียมเปิดเจรจาประเทศผลิตน้ำมันหลายแห่ง รวมถึงผู้ค้าน้ำมันยักษ์ใหญ่เพื่อร่วมทุนในกิจการน้ำมัน ฉวยโอกาสที่ราคาน้ำมันตกต่ำซื้อหุ้นกิจการในราคาถูก

ขณะเดียวกัน บริษัทค้าน้ำมันรายเล็กๆ ต่างก็ต้องการเงินทุนจากจีนในช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำ และเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวเช่นนี้ และจีนก็ถือว่ามีภาษีดีกว่าประเทศอื่น เนื่องจากภาคธุรกิจการเงินและการธนาคารยังคงเข้มแข็ง ทำให้จีนยังมีเงินไปลงทุนในต่างประเทศอีกมาก

ทั้งนี้ นายโจว จี้ผิง ประธานบริษัทปิโตรไชน่า ที่ไปร่วมการประชุมประจำปีของบริษัท กล่าวว่า “การควบรวมกิจการในต่างประเทศถือเป็นยุทธศาสตร์หลักของปิโตรไชน่า และช่วงที่ทั่วโลกกำลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ก็ยิ่งถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับเรา” และว่า ทางปิโตรไชน่ากำลังมองหาโครงการในต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการขยายความร่วมมือกับประเทศที่ร่ำรวยทรัพยากรน้ำมัน อย่างเช่น คาซัคสถาน เวเนซูเอลา และกาตาร์ เป็นต้น

ผู้บริหารของปิโตรไชน่า กล่าวด้วยว่า ทางบริษัทกำลังเจรจากับผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ๆ ทั้ง แองโกล-ดัชท์ และเชลล์ ของฮอลแลนด์ บีพีของอังกฤษ และเชฟรอนของสหรัฐฯ รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ซึ่งเป็นรัฐวิสหากิจในกาตาร์ และเวเนซูเอลา ซึ่งในเรื่องนี้ บริษัทใหญ่อย่างเชลล์ บีพี และเชฟรอน ได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทการปิโตรเลียมแห่งชาติจีน ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นบริษัทแม่ของปิโตรไชน่า ได้ทำสัญญาซื้อบริษัทผลิตน้ำมันจากคาซัคสถาน MangistauMunaiGas ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับรัฐวิสหากิจของคาซัคสถาน KazMunaiGas ในราคา 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 115,500 ล้านบาท) ซึ่งจะทำให้จีนมีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากเอเชียกลางเข้าไปเสริมความต้องการภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม นายเจียง จี๋หมิน ประธานการปิโตรเลียมแห่งชาติจีน กล่าวว่า ทางปิโตรไชน่ากำลังเดินหน้าเจรจากับประเทศเวเนซูเอลา และหากทั้งสองประเทศบรรลุข้อตกลงการร่วมทุนในโรงกลั่นน้ำ ก็จะทำให้จีนมีน้ำมันมาป้อนความต้องการในประเทศได้อีกวันละ 8 แสนบาร์เรล แต่ฝ่ายบริหารของปิโตรไชน่าไม่ยอมให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการร่วมทุนดังกล่าว

แม้ว่าผลประกอบการของปิโตรไชน่าจะดีกว่าบริษัทน้ำมันในประเทศอื่นๆ แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวได้ โดยปีที่แล้วผลกำไรของบริษัทลดลง 22 เปอร์เซ็นต์ และถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับแต่ปี 2544 และในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้การผลิตน้ำมันได้ลดลง 5.7 เปอร์เซ็นต์ โดยบริษัทตัดสินใจที่จะลดกำลังผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดที่ลดลง และปริมาณน้ำมันที่มีเหลือมากขึ้น

นอกจากนี้ ทางปิโตรไชน่ายังเผชิญกับแรงกดดันเพื่อให้ควบคุมต้นทุนการผลิต โดยนายโจว กล่าวว่า ในปีนี้ทางบริษัทจะลดรายจ่ายเพื่อการลงทุนลง 10 เปอร์เซ็นต์ และจะลดต้นทุนการผลิตลง 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้รายจ่ายเพื่อการลงทุนของบริษัทในเดือนเมษายนมีจำนวน 34,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 1,190,000 ล้านบาท)
กำลังโหลดความคิดเห็น