xs
xsm
sm
md
lg

ITV ยื้อเวลาทำแผนอีกรอบ โบ้ยภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ITV ขอเวลาทำแผนฟื้นฟูกิจการ แจงมีหลายแนวทางแต่หาข้อสรุปยาก เพราะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ชี้ต้องใช้เวลาและความรอบครอบก่อนตัดสินใจ เพราะส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ 2,396ล้านบาท และภาระค่าใช้จ่ายทางบัญชีอื้อ หลังแพ้คดีค่าสัมปทานส่วนต่าง

นายสมคิด หวังเชิดชูวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ( ITV ) แจ้งความคืบหน้าแจ้งแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยปัจจุบันบริษัทฯอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำแผนการดำเนินการเพื่อแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนหลักทรัพย์ฯ เพื่อเสนอขออนุมัติต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทฯตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด

โดย ณ ปัจจุบัน บริษัทฯ ยังคงมีคดีความกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ("สปน.") ที่ยังอยู่ในระหว่างการเริ่มต้นการพิจารณาตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการอยู่ 2 คดีได้แก่

1. ข้อพิพาทสถาบันอนุญาโตตุลาการที่ 1/2550 ซึ่งบริษัทฯได้ยื่นคําเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2550 (ก่อนถูกบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ) เพื่อขอให้คณะ อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดเรื่องค่าปรับผังรายการ และดอกเบี้ยของค่าสัมปทานส่วนต่าง

2. ข้อพิพาทสถาบันอนุญาโตตุลาการที่ 46/2550 ซึ่งบริษัทฯได้ยื่นคําเสนอข้อพิพาทต่อสถาบัน อนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 (หลังจากถูกบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ) เพื่อขอให้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในกรณีที่สำนักงานปลัดฯ บอกเลิกสัญญา ไม่ชอบด้วยข้อกฎหมายและข้อสัญญาและปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหายและเรียกร้องให้สปน.ชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทฯ โดยหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้ จำหน่ายคดีดำที่ 640/2550 ที่สำนักงานปลัดฯ เป็นผู้ฟ้องเรียกร้องให้บริษัทชำระค่าสัมปทานส่วนต่าง ดอกเบี้ยค่าปรับผังรายการ มูลค่าทรัพย์สินที่ส่งมอบไม่ ครบ รวมเป็นเงิน 101,865 ล้านบาท นำกลับมาเรียกร้องกับบริษัทฯ ในข้อพิพาทนี้

คดีพิพาททั้ง 2 คดี ยังอยู่ในการพิจารณาตามกระบวนการอนุญาโตตุลการซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานกว่ากระบวนการยุติธรรมจะถึงที่สุด และผลของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบที่เป็นสาระสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาวของบริษัทฯ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทได้ทำการศึกษาแนวทางการดำเนินธุรกิจในหลายแนวทาง ทั้งการหาธุรกิจใหม่และการเข้าซื้อกิจการบริษัทอื่น อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวได้ เนื่องจากปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบหลายด้าน ทั้งจากปัจจัยภายใน ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมือง และภาวะเงินเฟ้อซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาวัตถุดิบสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) ในประเทศสหรัฐอเมริกา

ดังนั้น บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบในการศึกษาความเป็นไปได้ของแผนฟื้นฟูกิจการ อีกทั้งสถานะงบการเงินรวมของบริษัทฯ ณ 30 มิถุนายน 2551 บริษัทฯ มีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบอยู่ 2,396ล้านบาท อีกทั้งมีภาระค่าใช้จ่ายทางบัญชีจากการสำรองเผื่อค่าดอกเบี้ยอันอาจเกิดขึ้นในกรณีที่บริษัทฯแพ้คดีในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าสัมปทานส่วนต่าง 2,999 ล้านบาท (คิดคำนวณโดยนับจากวันที่ 14 ธันวาคม 2549) เป็นเงินปีละประมาณ 436 ล้านบาท หรือไตรมาสละประมาณ 109 ล้านบาท ซึ่งในการจัดทำแผนฟื้นฟูตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทฯ จะต้องหาธุรกิจใหม่ที่สร้างผลกำไรสะสมได้เพิ่มขึ้น อย่างน้อย 2,696 ล้านบาทหรือหาวิธีอื่นใดเพื่อทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบดุลไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท และนอกจากนั้นบริษัทฯต้องสามารถทำกำไรจากการดำเนินงานในธุรกิจหลักไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิในงวด หรือ 466 ล้านบาท ในระยะเวลา 1 ปี (ในกรณีที่ผลกำไรไม่ต่อเนื่อง) จึงจะพ้นจากเหตุแห่งการเพิกถอนหลักทรัพย์ฯ

สืบเนื่องจากข้อจำกัดข้างต้นบริษัทฯ คาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการศึกษาความเป็นไปได้ในการแสวงหาธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพในการสร้างผลกำไรจำนวนดังกล่าว ในกรณีที่บริษัทฯ ได้จัดทำแผนการดำเนินการเพื่อแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนหลักทรัพย์ฯร่วมกับที่ปรึกษาการเงินและที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทฯเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ จะนำเสนอแผนการดำเนินการดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ พิจารณาอนุมัติและนำเสนอแผนการดำเนินการดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น