สนพ.แจงแผนปรับขึ้นราคา LPG พร้อมชง 4 แนวทางให้ รมว.พลังงาน ตัดสินใจ แนะจุดเหมาะสมต้องปรับขึ้น 15-20 บาท/ก.ก. หรือคิดเป็น 7.5-10 บาท/ลิตร ซึ่งจะทำให้ราคาขายที่ปั๊มซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 11-12 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้นเป็น 18-22 บาท/ลิตร ในทันที
วันนี้ (13 ส.ค.) รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน แจ้งว่า คณะทำงานศึกษาปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) จัดทำรายละเอียดต่างๆ ไว้พร้อมแล้ว ในเบื้องต้นราคาแอลพีจีในภาคขนส่งจะต้องปรับขึ้น 5-25 บาท/ก.ก. แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน คือ 1.ถ้าปรับราคาขึ้น 5 บาท/ก.ก. จะช่วยลดอัตราการเติบโตของการใช้แอลพีจีในประเทศบ้าง แต่ไม่ช่วยชะลอการนำเข้า 2.ปรับขึ้น 10 บาท/ก.ก. ช่วยชะลอการใช้แอลพีจีลง 20% 3.ปรับขึ้น 15 บาท/ก.ก. การใช้ลดลง 40% และช่วยลดการนำเข้า 50% และ 4.ปรับขึ้นราคา 25 บาท/ก.ก. จะช่วยหยุดอัตราการเติบโตการใช้แอลพีจีและไม่ต้องนำเข้าแอลพีจีทันที
ทั้งนี้ ทางผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่าน่าจะต้องปรับขึ้นแอลพีจี 15-20 บาท/ก.ก. หรือ 7.5-10 บาท/ลิตร จะทำให้ราคาขายที่ปั๊มซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 11-12 บาท/ลิตรจะเพิ่มขึ้นเป็น 18-22 บาท/ลิตร ซึ่งจะทำให้หยุดการใช้แอลพีจีในรถยนต์ โดยเรื่องดังกล่าวต้องรอให้ พล.ท.หญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รมว.พลังงาน ในฐานะประ ธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เรียกประชุมเพื่อพิจารณาโครงสร้างราคาแอลพีจีต่อไป
ทั้งนี้ การปรับขึ้นแอลพีจีควรจะปรับขึ้นราคาทุกเดือน และครั้งละมากๆ เพื่อที่จะลดปริมาณการใช้และการนำเข้า เพราะหากปรับขึ้นเพียงครั้งละ 5 บาท/ก.ก. ถือเป็นเงินเพียงเล็กน้อยไม่น่าจะช่วยลดการใช้แอลพีจีมากนัก ถ้าปรับราคาตั้งแต่ 10-20 บาท/ ก.ก. จะทำให้ผู้ใช้แอลพีจีหันไปปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ก๊าซธรรม ชาติ (เอ็นจีวี) แทน
พล.ท.(หญิง) พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับโครงสร้างก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ขณะนี้ได้จัดทำรายละเอียดในส่วนของโครงสร้างราคาเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจะต้องนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาในรายละเอียดและแผนการดำเนินงาน ภายใน 2 สัปดาห์นี้ หลังจากนั้นจึงจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. พิจารณาอนุมัติในส่วนของการปรับขึ้นราคาแอลพีจีในภาคการขนส่งและอุตสาหกรรม ต่อไป
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า แผนปรับราคาแอลพีจีภาคขนส่ง ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ได้แก่ 1.ไม่ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมากเกินไป 2.ดูแลเงินชดเชยให้กับ บริษัท ปตท. ในฐานะเป็นผู้นำเข้าแอลพีจี 3.ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคลดใช้แอลพีจีในรถยนต์และภาคอุตสาหกรรม เปลี่ยนมาใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (เอ็นจีวี)
“ขณะนี้ยังไม่ได้ปรับขึ้นราคาแอลพีจี เพราะอยู่ระหว่างหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการความปลอดภัย และมาตรการป้องกันการถ่ายเทก๊าซจากภาคครัวเรือนไปสู่ยานยนต์และอุตสาหกรรม แต่เชื่อว่าหลังราคาปรับขึ้น การใช้ก็ยังคงมีมาก เพียงแต่อาจจะชะลอการเพิ่มขึ้นได้บ้าง”
นายเมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า มาตรการดูแลความปลอดภัยคงจะไม่มีการใช้สารน็อกเครื่องยนต์ใน กรณีนำก๊าซจากครัวเรือนมาใช้ในรถยนต์แต่อย่างใด แต่จะใช้มาตรการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นถึงความไม่ปลอดภัย หากมีการถ่ายเทและผิดกฎหมายที่มีโทษปรับและจำชัดเจน
ขณะเดียวกัน กำลังพิจารณาว่าจะใช้กฎหมายอื่น หรือขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลการถ่ายเทระหว่างโรงบรรจุก๊าซไปยังสถานีบริการน้ำมันต่างๆ ซึ่งจะต้องมีความเข้มงวดในการดูแลมากขึ้น