xs
xsm
sm
md
lg

ปิดโอลิมปิด ศก.จีนแกร่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทิศทางเศรษฐกิจจีนหลังโอลิมปิก 2008 ปรับโครงสร้างเพื่อเติบโตอย่างสมดุล ระบุจีนมีภาคเศรษฐกิจภายในแข็งแกร่งทั้งการบริโภค สัดส่วนร้อยละ 50 และการลงทุน ร้อยละ 42 ของ GDP จึงไม่ต้องพึ่งพาส่งออกมากนัก ชี้ เศรษฐกิจจีนแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพย่อมส่งผลดีต่อไทย ในฐานะที่จีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยเป็นอันดับที่ 3 รองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกของจีนในครั้งนี้ได้แสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงศักยภาพของจีนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศชั้นนำที่จะมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นเป็นลำดับ นอกจากการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของจีนให้ปรากฏต่อสายตาชาวโลกแล้ว การเตรียมพร้อมของจีนสำหรับการเป็นเจ้าภาพ จัดงานโอลิมปิกโดยใช้งบประมาณ 42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ สิ่งปลูกสร้างต่างๆ โครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ คาดว่าจะก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาวในช่วงหลังงานกีฬาโอลิมปิก จากที่ก่อนหน้านี้การใช้จ่ายต่างๆ ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2546 ที่จีนได้เริ่มก่อสร้างเพื่อเตรียมพร้อม
สำหรับการเป็นเจ้าภาพงานโอลิมปิก ทั้งนี้ สนามกีฬา/สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับงานโอลิมปิกครั้งนี้สามารถใช้ประโยชน์และรองรับการจัดงานระหว่างประเทศและงานระดับโลกอื่นๆ ของจีนต่อไป

นอกจากนี้ รายได้จากภาคท่องเที่ยวในปักกิ่งที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะมีจำนวนราว 4.5 แสนคนในช่วงโอลิมปิก รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนอีกราว 150 ล้านคนที่คาดการณ์ว่าจะเดินทางเข้าร่วมชมการแข่งขันกีฬาในช่วงโอลิมปิกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจปักกิ่งในปีนี้ให้ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากที่เติบโตร้อยละ 12.3 ในปี 2550 อีกทั้งยังคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและชาวจีนจำนวนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงการเดินทางมาท่องเที่ยวในช่วงการแข่งขันกีฬาเนื่องจากความแออัดของนักท่องเที่ยวและข้อจำกัดด้านที่พักในช่วงงานโอลิมปิก จึงวางแผนเดินทางมาท่องเที่ยวหลังงานโอลิมปิกครั้งนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในปักกิ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ด้วย ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในจีนโดยรวมในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 140 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 จากจำนวน 132 ล้านคน ในปี 2550 สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในปักกิ่งและพื้นที่ใกล้เคียงที่สร้างขึ้นสำหรับงานโอลิมปิก เช่น ระบบขนส่ง และสาธารณูปโภค ต่างๆ จะสามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจีนในระยะยาวด้วย ซึ่งปัจจัยหนุนต่างๆ เหล่านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะรักษาอัตราการขยายตัวในระดับ 2 หลักได้ติดต่อกันเป็นปีที่ 6 โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10 ในปีนี้

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับความสำคัญของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างร้อนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสะท้อนถึงปัญหาหลายด้านที่อาจส่งผลทางลบต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของจีน ได้แก่ ช่องว่างการกระจายรายได้ของคนในเมืองและคนในภาคชนบท ความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ติดทะเลภาคตะวันออกและภาคกลาง การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างสิ้นเปลืองส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญเศรษฐกิจจีนในปีนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านจากทั้งภายในและภายนอกที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความสำคัญของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างสมดุล นอกจากปัจจัยเสี่ยงจากเสถียรภาพด้านราคาในภาวะเงินเฟ้อของจีนพุ่งสูงร้อยละ 7.9 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2551 แล้ว การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของจีนซึ่งถือเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แม้ว่าตัวเลขการส่งออกของจีนในช่วงครึ่งครึ่งแรกของปีนี้ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 21.9 แต่สัญญาณการส่งออกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่ชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 17.6 ทำให้คาดว่าการส่งออกของจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามไปด้วย และคาดว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะเติบโตชะลอลงเป็นร้อยละ 10 จากร้อยละ 11.9 ในปี 2550 ขณะที่ทางการจีนได้วางเป้าหมายการรักษาการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและมั่นคง ควบคู่กับการสร้างเสถียรภาพด้านราคาในช่วงที่เหลือของปีนี้

เป้าหมายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน ได้แก่ การส่งเสริมให้เศรษฐกิจจีนสามารถต้านทานต่อแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกได้ ขณะเดียวกันก็เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพของเศรษฐกิจภายใน เพื่อให้เศรษฐกิจจีนโดยรวมเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ได้แก่

-การกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาการส่งออก โดยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมภาคบริการ การยกระดับสาธารณูปโภคพื้นฐาน และเน้นขับเคลื่อนการบริโภคภายในประเทศ

-ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด การอนุรักษ์พลังงาน ลดการปล่อยสารพิษ (emission) และการปกป้องสิ่งแวดล้อม

-การปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชน ส่งเสริมการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกัน และสร้างความสมดุลของการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ติดทะเลทางตะวันออกและทางใต้กับพื้นที่ตอนในของจีน

การลงทุนของจีนสำหรับงานกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ถือเป็นมาตรการรองรับการเติบโตในระยะยาวที่จีนใช้งบประมาณลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและการแก้ไขปัญหามลพิษต่างๆ รวมถึงการใช้พลังงานที่สะอาดและมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเติบโตอย่างสมดุลของจีน

สำหรับประเทศไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า เศรษฐกิจจีนที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพย่อมส่งผลดีต่อไทยด้วย ในฐานะที่จีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยเป็นอันดับที่ 3 รองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น แม้เศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะเติบโตชะลอลง แต่การบริโภคและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนที่ยังคงขยายตัวได้ดี ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 27.4 จากช่วงเดียวกันของปี 2550 โดยเป็นการเติบโตทั้งการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร ในอัตราร้อยละ 23.4 และร้อยละ 21.2 ตามลำดับ การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในจีนทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางจากไทยขยายตัว ที่สำคัญ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+56%) ยางพารา (+51%) และเม็ดพลาสติก (+37%) คาดว่าการบริโภคภายในประเทศและ FDI ของจีนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้จะสนับสนุนให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สินค้าเกษตรส่งออกของไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัวได้ดี เนื่องจากมีปัจจัยหนุนทั้งจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นและอุปทานสินค้าเกษตรในจีนที่ลดลงจากเหตุการณ์เหตุการณ์ภัยธรรมชาติในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรของจีนเพิ่มขึ้น คาดว่ามาตรการปรับลดภาษีสินค้าเกษตรและอาหารของจีนหลายรายการในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เพื่อเพิ่มปริมาณอาหารในจีนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อสินค้าเกษตรและอาหารส่งออกของไทยไปจีนที่มีโอกาสขยายตัวได้ดีในตลาดจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และทำให้การส่งออกของไทยไปจีนโดยรวมในปีนี้มีแนวโน้มยังคงเติบโตต่อเนื่องในอัตรากว่าร้อยละ 27

นอกจากนี้ นโยบายของทางการจีนที่ส่งเสริมการกระจายรายได้ให้เท่าเทียมกันมากขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ตอนในของจีนให้เจริญทัดเทียมกับมณฑลติดทะลทางตะวันออกและทางใต้ ทำให้คาดว่าระดับรายได้ของคนจีนโดยรวมน่าจะปรับตัวสูงขึ้น และเป็นโอกาสของสินค้าส่งออกไทยมีศักยภาพที่จะรองรับการบริโภคของจีนที่ขยายตัวตามอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้นที่สำคัญ เช่น อาหารแปรรูป อาหาร/เครื่องดื่มสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เป็นต้น

ภาคธุรกิจไทยที่มีศักยภาพและต้องการขยายการลงทุนไปจีนอาจพิจารณาลงทุนในสาขาที่ทางการจีนสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ได้แก่ ธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ เทคโนโลยีระดับสูง บริการสมัยใหม่ สาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองระบบนิเวศวิทยา รวมทั้งธุรกิจที่ใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลงทุนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน การผลิตที่เน้นความสะอาด การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และการคุ้มครองระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อม

สำหรับประเด็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนนั้นน่าจะสะท้อนถึงการพิจารณาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีภาคเศรษฐกิจภายในแข็งแกร่งทั้งการบริโภคและการลงทุน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 และร้อยละ 42 ของ GDP ตามลำดับ ขณะที่ภาคส่งออกของจีนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 ของ GDP ทำให้การชะลอตัวของภาคส่งออกส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนค่อนข้างจำกัด เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาภาคส่งออกในระดับสูงคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 65 ของ GDP ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากผลกระทบจากปัจจัยภายนอกประเทศค่อนข้างสูง การหันมาพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศทั้งภาคลงทุนและการบริโภค รวมถึงการยกระดับรายได้ของประชาชนและสร้างมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น จึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในและช่วยลดแรงกดดันจากปัจจัยลบภายนอกประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและพึ่งพาตัวเองมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น