"หมอเลี้ยบ" โหมการตลาดประชานิยมราคาถูก 6 มาตรการ 6 เดือน ผ่านโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ สาธารณูปโภคทุกชนิดใช้ฟรีได้จริง 1 ส.ค.นี้ ทั้งน้ำ ไฟ รถเมล์ เปิดช่องให้หอพักที่คิดค่าเช่าไม่เกิน 3 พันบาท ได้สิทธิยกเว้นค่าน้ำ-ไฟ โดยต้องไปลงชื่อแสดงสิทธิ
วันนี้ (24 ก.ค.) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ออก 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อไทยทุกคน ซึ่งจะเริ่มมีผล 1 ส.ค.นั้น ในส่วนของมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปาได้มีรายละเอียดเพิ่มเติมในการคิดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนที่อาศัยในแฟลต หอพัก อพาร์ทเมนท์ และคอนโดมิเนียม รัฐบาลจะประกาศให้เจ้าของห้องเช่าที่เรียกเก็บค่าเช่าไม่เกินเดือนละ 3,000 บาทมาขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิจากมาตรการดังกล่าวให้เท่าเทียมกับประชาชนที่อาศัยอยู่ตามบ้านทั่วไปภายในวันที่ 15 ส.ค.นี้
"ต้องคิดค่าเช่าน้อยกว่า 3 พันบาท และมาทำสัญญายืนยันว่ามีผู้เช่าอยู่จริงเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งถ้าไม่มีมิเตอร์ก็จะมาหารเฉลี่ยตามจำนวนห้อง ถ้าคิดออกมาแล้วอยู่ในเกณฑ์(วงเงินการใช้ไฟฟ้า-ประปา) ก็จะได้รับความช่วยเหลือ แต่ถ้าเกินก็ไม่ได้ น่าจะเริ่มได้ในรอบบิลเดือน ก.ย. แต่ถ้าเป็นบ้านเรือนทั่วไปจะเป็นรอบบิลเดือน ส.ค.นี้"
ทั้งนี้ มาตรการของรัฐบาลกำหนดว่า รัฐจะรับภาระค่าน้ำประปาแก่ผู้ใช้น้ำที่มีการใช้ไม่เกิน 50 ลบ.ม./เดือน ส่วนค่าไฟฟ้านั้น รัฐจะรับภาระแก่ครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วย/เดือน แต่ถ้าใช้ไฟฟ้า 80-150 หน่วย/เดือน รัฐจะออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง
ส่วนมาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถเมล์ของ ขสมก. และรถไฟชั้น 3 นั้น ทั้งรถเมล์ ขสมก.และ รถไฟชั้น 3 จะมีการติดสติ๊กเกอร์ข้างตัวเพื่อให้ประชาชนเห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นรถที่ให้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เช่น รถเมล์ฟรีเพื่อประชาชน และรถไฟฟรี เพื่อประชาชน
สำหรับมาตรการลดภาษีสรรพสามิตรน้ำมันที่เป็นมาตรการเดียวที่จะเริ่มต้นแต่วันพรุ่งนี้(25 ก.ค.) นั้น ตั้งแต่เวลา 24.00-05.00 น.จะมีการตรวจสอบสต๊อกน้ำมันตามสถานีบริการน้ำมันทุกแห่ง ดังนั้นในช่วงเวลาดังกล่าวจะหยุดให้บริการน้ำมัน แต่หากสถานีบริการน้ำมันใดตรวจสอบสต๊อกได้เร็วกว่านั้น ก็สามารถเปิดให้บริการก่อนเวลาได้
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า สำนักงบประมาณจะประสานไปยังกระทรวงต้นสังกัดเพื่อจ่ายเงินชดเชยให้แก่รัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนในมาตรการดังกล่าวของรัฐบาล ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งจะเริ่มจ่ายเงินชดเชยให้ได้ตั้งแต่ต้นงวด เพื่อให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ได้มีเงินหมุนเวียนเพื่อใช้ในการให้บริการประชาชนต่อไป