หอการค้าฯ กังวลมาตรการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ คลัง-แบงก์ชาติ ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจให้ทรุดหนักขึ้นไปอีก แนะทบทวนมาตรการขึ้นดอกเบี้ย หวั่นเพิ่มต้นทุน-ธุรกิจรายเล็กอาจถึงขั้นปิดกิจการ “สมภพ” ชี้ นโยบายคลังเร่งด่วน 6 มาตรการ เปรียบเสมือนใช้กอเอี๊ยะเพื่อรักษาแผลฉกรรจ์ที่รอการผ่าตัด แก้ปัญหาไม่ตรงจุด-ขาดความมีประสิทธิภาพ และขาดความเป็นธรรม อัดรัฐบาลลูกกรอก อย่าทำตัวเป็นแค่นักประชาสงเคราะห์
วันนี้ (17 ก.ค.) นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวแสดงความเป็นห่วงกรณีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อีกร้อยละ 0.25 โดยเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ แม้ว่าการปรับขึ้นในรอบนี้ แบงก์ชาติจะใช้มาตรการแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม
ทั้งนี้ มองว่า เรื่องเงินเฟ้อ มีความน่าเป็นห่วงเช่นกัน เพราะอาจมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในภาคเอกชนมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม กนง.ต้องรอดูผลกระทบกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ ซึ่งหากทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ก็คงต้องทบทวน และหามาตรการในการดูแลเงินเฟ้ออื่นที่ไม่เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ
นายประมนต์ กล่าวว่า ขณะนี้มีรายงานว่าผู้ประกอบการรายเล็กบางรายที่อ่อนแอและปรับตัวไม่ได้ได้ปิดกิจการบ้างแล้ว สำหรับ 6 มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล มองว่า การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน อาจช่วยลดต้นทุนของการขนส่งของผู้ประกอบการได้บ้าง แต่คงเป็นลักษณะของการบรรเทาสถานการณ์เท่านั้น
ก่อนหน้านี้ นายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นถึงการออก 6 มาตรการของรัฐบาล ว่า หากรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อด้วยการลดภาษีน้ำมัน ก็คงแก้ไม่ได้ เพราะมาตรการแบบนี้ยิ่งจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในอนาคตสูงขึ้น การแก้ไขปัญหาน่าจะบริหารกลไกให้ประชาชนใช้น้ำมันอย่างประหยัดมากกว่า เพราะหลายประเทศใช้ได้ผลมาแล้ว ขณะที่การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ น่าจะมุ่งตรงไปที่ปัญหาเชิงโครงสร้างของการเงินและการคลังมากกว่า
ส่วนมาตรการลดค่าน้ำและไฟฟ้านั้น นายสมภพ กล่าวว่า ถือเป็นมาตรการใช้ออกมาใช้แบบผิดฝาผิดตัว ประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายไม่น่าจะได้ประโยชน์ เนื่องจากคน กทม.ส่วนใหญ่ เป็นครอบครัวเชิงเดี่ยวที่มีการศึกษาและมีรายได้มาก เป็นผู้ใช้น้ำ-ไฟน้อย ตรงข้ามกับคนจนเมืองที่อยู่อาศัยด้วยกันหลายคน จึงใช้น้ำ-ไฟมาก ดังนั้น มาตรการนี้จึงอาจไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่
ส่วนการให้ขึ้นรถเมล์ฟรีนั้น เห็นว่า หากจะลดค่าใช้จ่ายของประชาชนควรกำหนดตั๋วโดยสารลดลงครึ่งหนึ่ง แล้วนำเงินอุดหนุนนั้นไปจ่ายให้กับผู้ประกอบการจะดีกว่า เพราะหากรัฐบาลจะเดินหน้าตามมาตรการนี้จะเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำจนเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างผู้ประกอบการ
นายสมภพ ยังเชื่อว่า ทั้ง 6 มาตรการนี้ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่อาจจะบรรเทาทุกข์แบบประชาสังเคราะห์ได้ชั่วคราว เหมือนใช้ยาหม่องหรือกอเอี๊ยะเพื่อรักษาแผลฉกรรจ์ที่รอการผ่าตัด ซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่ตรงจุด รวมทั้งขาดความมีประสิทธิภาพและขาดความเป็นธรรม แม้ว่าการผลักดันนโยบายเพื่อช่วยคนจนจะไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่เป็นการช่วยแบบไม่ยั่งยืน ถือเป็นนคราประชานิยมรอบใหม่ เพื่อซื้อใจประชาชนแบบทิ้งทวน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายบางอย่าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยผมมองว่าระยะยาวจะทำให้เสียวินัยทางการคลัง
“การแก้ไขปัญหาแบบนี้ เราควรมองเสียงสะท้อนจากต่างประเทศว่า เขามองเราอย่างไรมากกว่า โดยตอนนี้มีเสียงสะท้อนในแง่ไม่ดีแล้ว” นายสมภพ กล่าว