เอแบคโพลล์ ชี้ คะแนนนิยม “สมัคร” พุ่งปรี๊ด หลังออก 6 มาตรการประชานิยมแบบฟาสต์ฟูด เพราะประชาชนให้ความสำคัญข่าว ศก.มีความสำคัญสูงที่สุด ขณะที่ข่าวพระวิหาร และการชุมนุมพันธมิตรฯ เป็นข่าวที่ได้รับความสนใจติดตาม
วันนี้ (20 ก.ค.) สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ความคิดเห็นของสาธารณชนต่อเรื่องสำคัญของประเทศไทย กรณีศึกษาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 2,447 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15-20 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 65.9 มองว่า ข่าวเศรษฐกิจ เป็นข่าวที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยและคนไทยทุกคน รองลงมาร้อยละ 54.1 ระบุ ข่าวปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ร้อยละ 50.2 ระบุข่าวความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 42.6 ระบุข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 38.2 ระบุข่าวการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และร้อยละ 31.1 ระบุข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี
ขณะเดียวกัน ประชาชนร้อยละ 80 สนใจติดตามข่าวปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหาร รองลงมาคือ ร้อยละ 75.3 สนใจข่าวเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 66.4 สนใจข่าวเศรษฐกิจ ร้อยละ 61.5 สนใจข่าวการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร้อยละ 58.5 สนใจข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 57.1 สนใจข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี
เอแบคโพลล์ ยังระบุว่า ประชาชนร้อยละ 53.7 พร้อมจะเสียสละเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 44 พร้อมเสียสละ เพื่อช่วยแก้ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม ร้อยละ 43.5 พร้อมเสียสละเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 35.5 ระบุเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และร้อยละ 33.9 พร้อมเสียสละเพื่อช่วยแก้ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา
เมื่อถามความเห็นถึงการวางตัวของคนไทยในการแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ กลับพบว่า คนไทยไม่ถึงครึ่ง หรือร้อยละ 46.8 ที่ระบุว่า จะเสียสละทุกอย่างเพื่อความมั่นคงของประเทศไทย ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 79.7 ระบุ คนไทยควรรักและสามัคคีกันในการแก้ปัญหาของประเทศขณะนี้ ร้อยละ 56.7 ระบุ ควรเร่งปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนไทยรักชาติ เสียสละให้มากขึ้น และร้อยละ 55.3 ระบุ ให้ยุติการขัดแย้งภายในประเทศโดยเร็ว ในขณะที่ร้อยละ 46.5 กำลังเตรียมตัวเตรียมใจต่อสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ของประเทศขณะนี้
นอกจากนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาล โดยพบว่า มีอยู่ 3 มาตรการที่ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 76.6, ร้อยละ 64.1 และร้อยละ 57.3 คิดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ คือ มาตรการชะลอการปรับค่าก๊าซหุงต้มในครัวเรือน, มาตรการลดค่าไฟฟ้า หากใช้ไม่เกิน 80 ยูนิตต่อเดือน และมาตรการลดอัตราภาษีน้ำมัน 6 เดือน ตามลำดับ
ส่วนมาตรการที่เหลืออีก 3 มาตรการ คือ มาตรการไม่คิดค่าโดยสารรถเมล์ร้อนจำนวน 800 คัน ในกรุงเทพมหานคร, มาตรการไม่คิดค่าโดยสารรถไฟ ชั้น 3 ที่ไม่ปรับอากาศ และมาตรการลดค่าน้ำประปาหากใช้ไม่เกิน 60 คิวต่อเดือนตามลำดับ พบว่า ส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายอะไรเลย
ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ ความนิยมของสาธารณชนต่อ นายสมัคร สุนทรเวช ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กำลังเพิ่มสูงขึ้นจากเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 30.7 มาเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ร้อยละ 52 และร้อยละ 57.1 ในการสำรวจครั้งล่าสุด อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนก็มีอัตราลดลง จากร้อยละ 52 ในเดือนมีนาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 40.6 ในเดือนมิถุนายน และร้อยละ 40.4 ในเดือนกรกฎาคม
อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลออก 6 มาตรการ 6 เดือนมา ทำให้กลุ่มคนที่ขออยู่ตรงกลางหายไปเพิ่มในกลุ่มคนที่สนับสนุน นายสมัคร สุนทรเวช มากขึ้น