xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดไฟเขียวแปรรูปตลาดหุ้น ตั้งเป้า 5 ปีมาร์เกตแคปเพิ่ม 2 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ไฟเขียวแปรรูปตลาดหุ้นไทย เตรียมขายหุ้นไอพีโอปี 54 พร้อมตั้งเป้า 5ปีข้างหน้ามาร์เกตแคปเพิ่มเป็น 12 ล้านล้านบาท รายได้รวม 4 พันล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 6 ล้านล้านบาท และ 2 พันล้านบาท "ภัทรียา" แย้มเล็งแยกโครงสร้างออกเป็น 2 กลุ่ม ประเดิมเงินกองทุนแห่งละ 1.7 หมื่นล้านบาท เชื่อแก้ไขกฎหมายการถือหุ้นเสร็จปี 52 พร้อมรับฟังความเห็นหน่วยงานเกี่ยวข้องโครงสร้างผู้ถือหุ้น

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ให้เห็นชอบหลักการปรับโครงสร้างกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามแนวทางผลการศึกษาของบริษัท Boston Consulting Group (BCG) ที่ปรึกษาในโครงการศึกษาการกำหนดรูปแบบและแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหลักของตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทย่อย ให้มีการแปรสภาพองค์กรหรือ Demutualization และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2554 รวมถึงการปรับโครงสร้างองค์กร และกำหนดแนวทางการปรับตัวเชิงกลยุทธ์ใน 5 ปีข้างหน้า (2552-2556)

ทั้งนี้ การแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม เพราะการปรับเปลี่ยนองค์กรโดยมีการตั้งเป้าหมายการเติบโตที่ชัดเจนในการดำเนินงาน และปรับเปลี่ยนระบบการทำงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ลูกค้าที่จะได้รับประโยชน์จากการลงทุน อาทิ บริษัทจดทะเบียน บริษัทสมาชิก และผู้ลงทุน

สำหรับแผนการดำเนินงานในช่วง 2 ปี แรกนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเร่งสร้างความแข็งแกร่งของตลาดทุนภายในประเทศด้วยการเพิ่มความลึกของตลาด เพิ่มสินค้าที่มีคุณภาพและความหลากหลายมากขึ้น หลังจากนั้นจะมุ่งไปสู่การหาพันธมิตร เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นในระดับภูมิภาค และระดับนานาประเทศในที่สุด

ขณะเดียวกันแผนการดำเนินงานดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนได้รับความสะดวก คล่องตัว มีต้นทุนที่ต่ำลง และมั่นใจได้ว่าจะได้ลงทุนในหลักทรัพย์ และตราสารทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อกระจายความเสี่ยง ทำให้มีทางเลือกมากขึ้น เพื่อได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างเต็มที่ ก็จะสามารถเพิ่มค่าเงินออมของตนเอง

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งเป้าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เกตแคป) เพิ่มอีก 2 เท่า หรือเพิ่มเป็น 12 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันที่มี 6 ล้านล้านบาท และตั้งเป้าเพิ่มรายได้เป็น 4,000 ล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้ 2,000 ล้านบาท ซึ่งรายได้เพิ่มขึ้นไม่มากนักนัก เนื่องจาก ตลาดหลักทรัพย์ฯมีการตัดรายได้จากดอกเบี้ยและเงินลงทุนออก

"จากการปรับปรุงโครงสร้างตลาดหลักทรัพย์ฯ ข้างต้น จะส่งผลให้สัดส่วนรายได้อีก 5 ปีข้างหน้า มาจากรายได้ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมการรับหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียน และการเป็นนายทะเบียนรับฝากหลักทรัพย์ และรายได้จากสินค้าใหม่ๆ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของรายได้รวม และตั้งเป้ามีบริษัทจดทะเบียนจากต่างประเทศไม่น้อยกว่า 5% ของมูลค่าตลาดรวม ซึ่งจะมีการกำหนดแผนกลยุทธ์ เพื่อให้มีการดำเนินงานที่บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้"

สำหรับแนวทางการปรับโครงสร้างองค์กรตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้น บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้อนุมัติให้มีการแยกงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กองทุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุน และส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเน้นการทำงานในแต่ละด้าน คือการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว และการดำเนินธุรกิจตลาดทุน ทั้งนี้ กองทุนเพื่อการพัฒนาตลาดทุน จะมีหน่วยงานที่ดูแลงานด้านการให้ความรู้แก่ผู้ลงทุน และการพัฒนาความแข็งแกร่งให้ผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุน สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน งานด้านบรรษัทภิบาล และกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของตลาดทุนไทย ที่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาตลาดทุนอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมีการจัดโครงสร้างที่ชัดเจน ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้งบริษัทจดทะเบียน บริษัทหลักทรัพย์ และผู้ลงทุน ดูแลงานด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมถึงดูแลงานหลังการซื้อขายทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ทั้ง 2 กลุ่มงาน จะได้รับการจัดสรรเงินจากเงินกองทุนของ ตลาดหลักทรัพย์ฯที่มี 1.7 หมื่นล้านบาท ให้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาตลาดทุน

"ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการเพื่อปรับโครงสร้างขององค์กรให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2551 นี้เป็นต้นไป โดยโครงสร้างองค์กรใหม่จะมีผลตั้งแต่ต้นปี 2552 และจะมีการจัดเตรียมแผนกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาว 5 ปีข้างหน้า ซึ่งการแก้ไขกฎหมาย คาดว่าจะสามารถนำเสนอแก้ไขได้ในปี 2552 โดยจะมีการนำรายละเอียดที่สำคัญ เช่น โครงสร้างการถือหุ้น การกำกับดูแลหน่วยงานในตลาดทุนหลังการแปรสภาพตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น"

พร้อมกันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะระดมความคิดและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง รวมถึงเตรียมนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทยต่อไป ส่วนในเรื่องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และโครงสร้างทุนจดทะเบียนจะต้องหารือกับบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินเช่นเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น