xs
xsm
sm
md
lg

BBL ปล่อยกู้สิ่งทอรายใหญ่ 3 พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์กรุงเทพปล่อยกู้สิ่งทอรายใหญ่"ลัคกี้ สปินนิ่ง"วงเงิน 3,333 ล้าน ซื้อเครื่องจักร "Murata Air Vortex Spinning Machine" จากบริษัท มุราตะ แมชชีนเนอรี่ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อขยายกำลังการผลิต ระบุเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ให้ผลผลิตเส้นใยที่มีคุณสมบัติความนุ่มและเรียบกว่าปกติ รวมถึงช่วยประหยัดพลังงานและลดต้นทุนของบริษัทได้

นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู รองผู้จัดการใหญ่ ผู้อำนวยการลูกค้าธุรกิจรายใหญ่นครหลวง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ลงนามในสัญญาสนับสนุนสินเชื่อแก่บริษัท ลัคกี้ สปินนิ่ง จำกัด ผู้ผลิตด้ายปั่นชั้นนำในอุตสาหกรรมสิ่งทอของประเทศไทย ด้วยวงเงินกู้จำนวน 3,333 ล้านบาท สำหรับใช้ในการขยายกำลังการผลิต ด้วยการลงทุนซื้อเครื่องจักร "Murata Air Vortex Spinning Machine" จากบริษัท มุราตะ แมชชีนเนอรี่ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น โดยเครื่องจักรดังกล่าวนับเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการยกระดับการผลิตให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ด้วยต้นทุนที่ลดลง

"นับเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 องค์กรขนาดใหญ่ ทั้งในส่วนของสถาบันการเงิน ผู้นำในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักร ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการขยายธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และยกระดับการผลิตของลูกค้าผู้ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทย"นายชาญศักดิ์ กล่าว

นายกมล พิชิตสิงห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลัคกี้ สปินนิ่ง จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อจากทางธนาคารกรุงเทพ ในการนำไปขยายกำลังการผลิตด้วยการซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัย ที่จะช่วยให้ทางบริษัทสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติพิเศษเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยเครื่องจักรดังกล่าวนับเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีล่าสุดที่จะทำให้สามารถปั่นเส้นด้ายให้มีความนุ่ม และเรียบกว่าเส้นด้ายปกติทั่วไป เมื่อนำไปผลิตเป็นสิ่งทอประเภทต่างๆ จะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สวมใส่สบาย ลื่นเรียบ ลดปัญหาเรื่องขนบนเนื้อผ้า ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศและภายนอกประเทศในขณะนี้ และที่สำคัญเครื่องจักรดังกล่าวยังสามารถลดกระบวนการผลิต ซึ่งทำให้สามารถประหยัดพลังงานที่ใช้ในเครื่องจักรทั่วไปได้สูงถึง 35%

"การลงทุนของทางบริษัทในครั้งนี้ นับเป็นระยะที่ 1 ใน 2 ระยะของโครงการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการติดตั้งเครื่องจักรจำนวน 50 เครื่องแล้วเสร็จ และเริ่มการผลิตได้ในเดือนมกราคม พ.ศ.2552 หลังจากนั้นทางบริษัทได้กำหนดแผนงานโครงการในระยะที่ 2 ในการติดตั้งเครื่องจักรดังกล่าวเพิ่มเติมอีกจำนวน 50 เครื่อง ภายในสิ้นปี พ.ศ. 2554 เมื่อเสร็จสิ้นโครงการจะทำให้ทางบริษัทมีเครื่องจักรรวมกันทั้งสิ้น 100 เครื่อง"นายกมลกล่าว

ด้านนายไดสุเกะ มุราตะ ประธาน บริษัท มุราตะ แมชชีนเนอรี่ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องจักร "Murata Air Vortex Spinning Machine" นับเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่ทางบริษัทมีความภาคภูมิใจ ทั้งนี้ทางบริษัทได้คิดค้นและพัฒนาเครื่องจักรเพื่อให้มีคุณสมบัติพิเศษในการปั่นด้ายชนิดใหม่นี้มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2542 อีกทั้งยังได้รับการรับรองให้เป็น "เทคโนโลยีสีเขียว" หรือ "Green Technology" จากองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม ด้วยเป็นการผลิตที่ปราศจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับจากเครื่องจักรดังกล่าวจะมีคุณภาพสูง และต้นทุนที่ลดลง สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในอุตสาหกรรมสิ่งทอปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น