xs
xsm
sm
md
lg

เอ็มเอฟซีลุ้นธปท.ปล่อยไทยEXIMตั้งสาขาเมืองนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน-"พิชิต"เผยความคืบหน้าบริษัทร่วมทุน เอ็มเอฟซี-ธสน.ใกล้ความจริง Q2 มีโอกาสจัดตั้ง แต่หวั่นบริษัทลูกที่ตั้งสาขาในต่างประเทศติดเกณฑ์บางประการ เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นกระทรวงการคลังเหมือนกัน แต่มั่นใจเป็นประโยชน์ทั้งด้านการลงทุน และช่วยเหลือผู้ส่งออก ขณะเดียวกันเตรียมงัดกองพันธบัตรลงทุน6-7 ประเทศในทวีปเอเชีย ให้ผลตอบแทน 3.5% ล่อใจนักลงทุนช่วงเดือนหน้า

นายพิชิต อัครทิพย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด มหาชน กล่าวถึง ความคืบหน้าของการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ภายหลังการประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 2/2551 เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ระหว่างเวลา 10.30 น. - 12.00 และได้รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้วในวันเดียวกัน โดยที่ประชุมได้มติให้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางให้คำปรึกษา กับลูกค้าธุรกิจนำเข้าส่งออก เพื่อแก้ปัญหากับการติดต่อทำธุรกิจ เนื่องจากคู่ค้าในต่างประเทศกังวลเกี่ยวกับ การข้อตกลงในการทำการค้า

ทั้งนี้ คาดว่าการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 โดยมีสัดส่วนการลงทุนของเอ็มเอฟซีในบริษัทดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 49 ของทุนจดทะเบียนของบริษัท คิดมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 17.5 ล้านบาท

สำหรับลักษณะการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุน ไทย เอ็กซิม อินเตอร์เนชั่นนอล จะออกไปในรูปแบบของการตั้งสาขาในต่างประเทศที่ผู้ลงทุนไทยสนใจลงทุน โดยเป้าหมายแรกจะเป็นการส่งเสริมผู้ลงทุนไทยก่อนเป็นหลัก โดยเฉพาะการส่งเสริมการส่งออกและนักลงทุนไทยจะไปลงทุนในประเทศเหล่านั้น หลังจากนั้นจะเป็นเป้าหมายรอง ในการดึงผู้ประกอบการในประเทศนั้น เข้ามาลงทุนกับบลจ.เอ็มเอฟซี รวมถึงการนำกองทุนต่างประเทศ (เอฟไอเอฟ) ออกไปลงทุนในประเทศเหล่านั้นด้วย

"ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมักมีปัญหาในเรื่องของความเข้าใจกันของผู้ซื้อสินค้า และผู้ส่งออก คนซื้อเองไม่แน่ใจว่าจะได้สินค้าหรือเปล่า หรือเงินจะถึงมือคนขายหรือไม่ แลบริษัทร่วมทุนนี้จะตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา แต่ในส่วนของเอ็มเอฟซีเราจะดูแลเรื่องของการลงทุน และจะมีตั้งเป็นกองทุนคันทรีฟันด์ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งในตลาดและนอกตลาดขณะเดียวกันเราเองก็อาจจะจัดตั้งกองทุนเอฟไอเอฟออกไปลงทุนในประเทศเหล่านั้นด้วย"นายพิชิตกล่าว

นายพิชิต กล่าวอีกว่า ในส่วนของการตั้งสาขาในต่างประเทศขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะติดกฎเกณฑ์ของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อะไรหรือไม่ เนื่องจากบลจ.เอ็มเอฟซี และธสน.เอง มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งการที่จะจัดตั้งสาขาในต่างประเทศ และบริษัทลูกที่ตั้งขึ้นจะต้องอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลังด้วย หรือจะสามารถบริหารงานได้เองอย่างอิสระยังไม่ชัดเจนนัก

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการตั้งสาขาในต่างประเทศน่าจะทำได้ และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งกองทุนคันทรีฟันด์ จากต่างประเทศเองยังสามารถเข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทยได้ ซึ่งบริษัทร่วมทุนที่จะตั้งขึ้นควรที่จะทำได้ด้วยเช่นกัน

นายพิชิต กล่าวอีกว่า นอกจากบริษัทจะมีแผนการตั้งสาขาของบริษัทร่วมทุนในต่างประเทศแล้ว ในไตรมาส 2 ของปีนี้ยังมีแผนที่จะออกกองทุนร่วมพันธบัตรต่างประเทศเพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนอีกด้วย ซึ่งนโยบายการลงทุนของกองทุนนี้จะแตกต่างจากกองทุนพันธบัตรต่างประเทศทั่วๆ ไป โดยจะมีการลงทุนในพันธบัตรที่มีเรตติ้งดีประมาณ 6-7 ประเทศ และคาดว่าจะได้ผลตอบแทนประมาณ 3.5%

ทั้งนี้ การคัดเลือกประเทศที่จะลงทุนนั้นบริษัทจะดูอันดับความน่าเชื่อถือ การเมืองและการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ เป็นหลัก และน่าจะเป็นประเทศในแถบเอเชียเป็นหลักร่วมถึงประเทศเกาหลีใต้ด้วย อย่างไรก็ตามกองทุนนี้ยังอยู่ระหว่างการขออนุมัติจาก ก.ล.ต. แต่คาดว่าจะสามาถรเปิดขายให้กับนักลงทุนได้ประมาณเดือนพฤษภาคมนี้

“ประเทศที่เราดูอยู่ตอนนี้มีประมาณ 7-8 ที่ โดยจะดูเครดิตดีกว่าไทย ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มเอเชียที่ให้ผลตอบแทนสูง และน่าจะมีความน่าเชื่อถือทางการเมือง และการเติบโตของจีดีพีเป็นหลัก ซึ่งก็น่าจะมีเกาหลีใต้อยู่ในนี้ด้วย” นายพิชิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น