xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นผันผวนหนัก หวั่นแบงก์แห่ขึ้นดบ.-เงินเฟ้อ-การเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ยังผันผวนหนัก หลังเจอมรสุมรุมเร้าทั้งปัญหาเงินเฟ้อ-การเมือง ขณะที่นักลงทุนวิตกธนาคารประกาศขึ้นดอกเบี้ยตามแบงก์กรุงเทพที่นำร่องไปก่อนหน้าแล้ว ส่วนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติทิ้งหุ้นไทยกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท กดดัชนีร่วงเกือบ 42 จุด โบรกเกอร์ ระบุอาจเป็นการส่งสัญญาณขายยาวหากมีแรงขายออกมาต่อเนื่อง

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องและรุนแรง หลังจากได้รับผลกระทบจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ประการแรก ความกังวลเรื่องปัญหาเงินเฟ้อ จากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ประการที่สอง มาตรการบังคับให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นลดค่าการกลั่นน้ำมันดีเซล 1 บาทต่อลิตร และประการสุดท้าย สถานการณ์ทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้น

จากประเด็นต่างๆ ได้เป็นแรงกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากสิ้นสัปดาห์ก่อน 23 พ.ค. 51 ที่ 875.59 จุด มาอยู่ที่ระดับ 833.65 จุด (30 พ.ค.) ลดลงมากถึง 41.94 จุด คิดเป็น 4.79% มูลค่าการซื้อขายรวมตลอดทั้ง 5 วัน 118,364.63 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 13,182.02 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 12,358.21 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 823.81 ล้านบาท
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงต่อเนื่องกัน 4 วัน ก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในวันศุกร์สุดสัปดาห์ จากสถานการณ์การเมืองคลายความกดดันจากการลาออกของนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และความชัดเจนเรื่องค่าการกลั่น

อย่างไรก็ตาม ช่วงท้ายตลาดธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทในอัตรา 0.125-1.00% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อีก 0.37% มีผลตั้งแต่วันนี้ (2 มิ.ย.) ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวได้อย่างจำกัด
สำหรับแนวโน้มในสัปดาห์นี้ คาดว่าตลาดหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยปัจจัยมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนที่สำคัญยังคงเป็นเรื่องของทิศทางอัตราดอกเบี้ย ว่าจะมีธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ปรับขึ้นดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับธนาคารกรุงเทพ ที่นำร่องไปก่อนหน้าแล้วหรือไม่

ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจนกลายเป็นวิกฤตเงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาด้านการเมืองเกี่ยวกับบทบาทของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะบานปลายหรือรุนแรงขึ้นหรือไม่ ดังนั้นจึงแนะนำกลยุทธ์ระยะสั้นให้ถือเงินสดรอดูสถานการณ์ และทยอยซื้อสะสมในส่วนของนักลงทุนระยะยาว โดยประเมินแนวรับไว้ที่ระดับ 825-830 จุด และแนวต้าน 840 จุด

ด้านทีมวิเคราะห์การลงทุน บลไอร่า ระบุว่า นักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นติดต่อกันในช่วง 3 วันสุดท้ายของสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ ขายสุทธิ 3,169 ล้านบาท 2,608 ล้านบาท และ 5,481 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 3,752 ล้านบาท และเมื่อรวมทั้งสัปดาห์แล้วมูลค่าใกล้เคียง 1.5 หมื่นล้านบาทที่ทยอยซื้อสะสมมาก่อนหน้า หากนักลงทุนต่างชาติเริ่มมีแนวโน้มขายสุทธิสะสมมากกว่านี้มีแนวโน้มขายสุทธิมากขึ้น แต่หากเริ่มซื้อกลับจะแสดงว่าต่างชาติยังรอดูความชัดเจนของสถาณการณ์
โดยในสัปดาห์นี้ยังให้น้ำหนักกับปัจจัยการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งจากอดีตตั้งแต่ปี 2548 ที่เริ่มมีการชุมนุมกดดันรัฐบาล นำไปสู่การเลือกตั้งโนโหวต และการทำรัฐประหาร หรือเหตุการณ์สำคัญๆ อย่างมาตรการ 30% ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพภาคอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) ที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกเมื่อต้นปี หากพิจารณาการแกว่งตัวของดัชนีออกจากเส้นค่าเฉลี่ย SMA 200 วัน พบว่าการแกว่งตัวบวกลบ 9% จาก SMA200

จะรองรับสถานการณ์ไว้ได้ ขณะที่เหตุการณ์ปัจจุบันกรณีที่การเมืองผ่อนคลายลงและไม่บานปลายไปมากกว่านี้ การแกว่งตัวจากค่าเฉลี่ยระดับไม่เกิน 3% น่าจะรองรับได้ คือ บริเวณ 800-828 จุด แต่หากเหตุการณ์บานปลายคิดว่าระดับบวกลบ 7% น่าจะรองรับได้ คือ บริเวณไม่เกิน 770 จุด

นายอภิสิทธิ์ ลิมศุภนาค ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.บีฟิท กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้จะแกว่งตัวผันผวน เนื่องจากความกังวลในเศรษฐกิจยังกดดันบรรยากาศการลงทุน เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง โดยปัญหาหลักยังมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้โรงกลั่นน้ำมัน 4 แห่งในกลุ่มบมจ.ปตท.(PTT) ตกลงจะจัดสรรน้ำมันดีเซลประมาณ 122 ล้านลิตร/เดือน ขายในราคาต่ำกว่าตลาด 3 บาท/ลิตร เป็นระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่เดือนมิ.ย.- พ.ย.เพื่อนำไปช่วยเหลือให้กับผู้ประกอบการรายสาขา เช่น รถร่วมโดยสาร หรือกลุ่มอื่นๆ ซึ่งยังต้องติดตามว่าประชาชนทั่วไปจะได้รับประโยชน์ด้วยหรือไม่
ขณะที่ สถานการณ์การเมืองยังต้องติดตามการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะมีบทสรุปเป็นอย่างไร โดยประเมินแนวรับที่ 820 จุด และแนวต้านที่ 840-842 จุด หากแนวรับดังกล่าวไม่สามารถรับได้ จะมีแนวรับถัดไปที่ 800 จุด ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในระยะสั้นเล่นเก็งกำไรในกรอบดังกล่าวได้

นางสาวสิริณัฎฐา เตชะศิริวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น จากประเด็นความเสี่ยงการเมืองในประเทศที่ลดความร้อนแรงลงในระดับหนึ่ง หลังนายจักรภพ ลาออก และญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตกไป แต่ดัชนีอาจจะปรับตัวขึ้นไม่แรงนัก เพราะสถานการณ์การเมืองยังไม่น่าไว้วางใจเท่าที่ควร โดยประเมินแนวรับที่ 820 จุด และแนวต้านที่ 850 จุด

นายอนุพนธ์ ศรีอาจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บีฟิท กล่าวถึง กรณีโรงกลั่นน้ำมัน 4 แห่งในกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ตกลงจะจัดสรรน้ำมันดีเซลประมาณ 122 ล้านลิตร/เดือน ขายในราคาต่ำกว่าตลาด 3 บาท/ลิตร เป็นระยะเวลา 6 เดือนตั้งแต่เดือนมิ.ย.- พ.ย.เพื่อนำไปช่วยเหลือให้กับผู้ประกอบการรายสาขา เช่น รถร่วมโดยสาร หรือกลุ่มอื่นๆ ว่าส่งผลกระทบน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากไม่ได้ลดทั้งหมดของกำลังการผลิต ซึ่งน่าจะเป็นผลบวกกับหุ้นกลุ่มโรงกลั่น ประกอบกับที่ผ่านมาปรับตัวลงมากพอสมควร โดยมาตราการที่ออกมาจะกระทบกำไรต่อหุ้นของโรงกลั่นทั้ง 4 แห่ง ดังนี้ TOP 0.32 บาท PTTAR 0.12 บาท IRPC 0.03 บาท และ BCP 0.16 บาท ส่วนผลกระทบกับราคาหุ้นเป็นดังนี้ TOP 3.3% PTTAR 3% IRPC 4% และ BCP 8% ขณะที่ผลกะทบกับกำไรของปตท.จะมีเพียงเล็กน้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น