xs
xsm
sm
md
lg

ยอดส่งรายได้รัฐวิสาหกิจวูบ 7 เดือนต่ำกว่าเป้า 3 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สคร.เผยยอดนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจเดือนเมษาฯ 2.2 หมื่นล้าน ต่ำกว่าเป้า 7.4 พันล้าน ขณะที่ยอดนำส่ง 2 ไตรมาสแรกของปีงบฯมีจำนวน 6.6 หมื่นล้านต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 9.8 หมื่นล้าน มั่นใจหลังรับนโยบายรมว.คลังทำให้ช่วงที่เหลืออีก 2 ไตรมาสของปีงบฯส่งรายได้ตามเป้า

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้เข้ารัฐเป็นจำนวน 22,176.05 ล้านบาท น้อยกว่าที่ประมาณการไว้ 7,441.11 ล้านบาทจากยอดประมาณการ 29,617.16 ล้านบาท โดยแยกตาม รายสาขา อาทิ สาขาพลังงาน 15,759.26 ล้านบาท สาขาสถาบันการเงิน 3,939 ล้านบาท สาขาพาณิชย์และบริการ 1,053.94 ล้านบาท สาขาขนส่ง 650 ล้านบาท สาขาสาธารณูปการ 404.14 ล้านบาท สาขาอุตสาหกรรม 316.70 ล้านบาท และกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 50 จำนวน 53.01 ล้านบาท

สำหรับตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงปัจจุบัน (ตุลาคม 2550-เมษายน 2551) รัฐวิสาหกิจสามารถนำส่งเงินรายได้เข้าคลังทั้งสิ้น 65,966.28 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ในปี 51 จำนวน 98,650 ล้านบาท

นายอารีพงศ์ กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจที่สามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐ 5 อันดับแรกได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 9,489.26 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 4,046 ล้านบาท ธนาคารออมสินจำนวน 3,939 ล้านบาท การไฟฟ้านครหลวงจำนวน 1,177 ล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 1,047 ล้านบาท

ด้านผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในเดือนมีนาคม 2551 มียอดเบิกจ่ายจริงทั้งสิ้น 20,581.36 ล้านบาท รวมตั้งแต่ต้นปีงบประมาณถึงปัจจุบัน (ตุลาคม 2550-มีนาคม 2551) รัฐวิสาหกิจได้เบิกจ่ายงบประมาณจริงแล้วทั้งสิ้น 86,288.49 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25.26 ของวงเงินงบประมาณปี 2551 จำนวน 341,547.13 ล้านบาท

ส่วนผลการเบิกจ่ายงบลงทุนในเดือนมีนาคม 2551 แยกตามรายสาขาได้แก่ สาขาพลังงานจำนวน 10,944.01 ล้านบาท สาขาขนส่งจำนวน 4,001.55 ล้านบาท สาขาสื่อสารจำนวน 1,256.50 ล้านบาท สาขาสาธารณูปการจำนวน 3,704.48 ล้านบาท สาขาพาณิชย์และบริการจำนวน 624.16 ล้านบาท สาขาสังคมและเทคโนโลยีจำนวน 25.60 ล้านบาท สาขาอุตสาหกรรมจำนวน 24.67 ล้านบาท สาขาเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติจำนวน 0.40 ล้านบาท

รัฐวิสาหกิจที่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนตั้งแต่ต้นปีงบประมาณถึงปัจจุบัน (ตุลาคม 2550-มีนาคม 2551) 5 อันดับแรกได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจำนวน 20,272.93 ล้านบาท (สาขาขนส่ง)การเคหะแห่งชาติจำนวน 16,608.39 ล้านบาท (สาขาสาธารณูปการ) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)จำนวน 9,631 ล้านบาท (สาขาพลังงาน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจำนวน 6,156 ล้านบาท (สาขาพลังงาน)และการรถไฟแห่งประเทศไทยจำนวน 5,393 ล้านบาท (สาขาขนส่ง)

อย่างไรก็ตาม สคร. เชื่อว่า หลังจากที่รัฐวิสาหกิจทั้ง 58 แห่ง ได้รับทราบนโยบายด้านการบริหารรัฐวิสาหกิจ จากนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2551 ที่ผ่านมา รัฐวิสาหกิจจะได้แนวทางที่ชัดเจน สามารถวางแผนและกำหนดรูปแบบการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งจะส่งผลให้ 2 ไตรมาสสุดท้าย รัฐวิสาหกิจจะสามารถนำส่งเงินรายได้แผ่นดิน จำนวน 98,650 ล้านบาท และเร่งรัดผลการเบิกจ่ายงบลงทุนจากรัฐวิสาหกิจ จำนวน 341,547.13 ล้านบาท ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น