xs
xsm
sm
md
lg

MFC แนะวิธีหาเงินทำรถไฟฟ้า แปลงสินทรัพย์เป็นทุนลดหนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ผู้จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี”ไม่ห่วงการหาแหล่งระดมทุนสร้างรถไฟฟ้าของภาครัฐ ชี้มีหลายวิธีให้เลือก ทั้ง ภาษีพิเศษ - งบแผ่นดิน - เงินกู้ - รายได้ในอนาคต พร้อมแนะคลังแปลงสินทรัพย์เป็นทุนก่อสร้าง ส่วนวายุภักษ์ 2 หากไม่เร่งดำเนินการเฟสสอง และหนี้สาธารณะไม่แตะเพดาน50% ของจีดีพี ก็ไม่ต้องรีบร้อนจัดตั้ง เพราะเป็นเครื่องมือใช้ลดเพดานหนี้ได้ เตือนรัฐต้องจัดลำดับความสำคัญของโครงการก่อน-หลัง ชี้หากเร่งสร้างพร้อมกันหมด เงินอาจไม่พอ

นายพิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการจัดหาแหล่งระดมทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า 9 สายของภาครัฐว่า จากการสัมมนาเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น เราสามารถมองถึงแหล่งเงินสำหรับการระดมทุนเพื่อก่อสร้างได้ 2 ส่วน โดยแนวทางแรกคือ ซึ่งมาจากงบประมาณแผ่นดิน หรือมาจากเงินกู้ และเงินภาษีพิเศษต่างๆ อาทีภาษีน้ำมัน ซึ่งเมื่อครั้งก่อนที่จะมีการปรับลดการจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซล กองทุนสถาบันพลังงานสามารถจัดเก็บเงินภาษีน้ำมันได้ถึงปีละ 50,000 ล้านบาท โดยหากดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ในระยะเวลา 5 ปี ก็จะมีเงินตรงส่วนนี้ถึง 250,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ส่วนที่ 2 มาจะจากรายได้ในอนาคตของผู้ประกอบการ รวมทั้งรายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะสามารถจัดเก็บรายได้ในส่วนนี้ได้ถึง 50,000 – 100,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังจะมาจากการขายหุ้น หรือที่ดินที่ไม่เกิดประโยชน์ของกระทรวงการคลัง แล้วนำไปลงทุนอย่างกองทุนวายุภักษ์ 1 ก็สามารถเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการระดมทุนหาแหล่งเงินทุนได้

“ในฐานะนักลงทุน เราเห็นด้วยกับการดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าของภาครัฐบาลแน่ อีกทั้งเรื่องดังกล่าวถือเป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นของกรุงเทพมหานคร เพราะตอนนี้หากเปรียบเทียบจำนวนประชากรในกทม.กับลอนดอน ประเทศอังกฤษแล้วอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเรายังห่างจากเขาหลายเท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยยังขาดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานพอสมควร

ส่วนการจัดหาแหล่งเงินทุนนั้น มองว่าไม่น่าห่วงเท่าไร เนื่องจากภาครัฐยังมีสินทรัพย์ที่มีคุณภาพที่สามารถเปลี่ยนเป็นมูลค่าได้สูง อาทิที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ย่านมักกะสัน – บางซื่อ เป็นต้น”นายพิชิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลภายหลังจากที่ดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าเสร็จนั่นคือ การใช้บริการของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำใจเพราะการเปิดใช้บริการระบบสาธารณูปโภคประเภทนี้ในต่างประเทศนั้น ช่วงแรกจะมีผู้มาใช้บริการน้อย แต่พอได้รัยการประชาสัมพันธ์และแผนการตลาดที่ดีเชื่อว่าจะมำให้มีประชาชนเข้ามาใช้บริการเพิ่ม

สำหรับการจัดตั้งกองทุนรวมวายุภักษ์ 2 เพื่อระดมทุนก่อสร้างโครงการภาครัฐนั้น เชื่อว่าหากภาครัฐไม่เร่งดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าระยะที่สองเร็วจนเกินไป ก็ยังไม่มีความจำเป็นหรือต้องรีบเร่งในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะดูจากตัวเลขหนี้สาธารณะขณะนี้ยังไม่ถึงร้อยละ 50 ของจีดีพี แต่หากตัวเลขดังกล่าวมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น การจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 หรือกองทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ถือว่าเป็นเครืองมือทางการเงินที่สามารถช่วยลดเพดานตัวเลขหนี้สาธารณะได้ แต่วงเงินที่ระดมทุนจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับวงเงินที่ต้องการในการจัดตั้งกองทุนด้วย เนื่องจากวงเงินนี้สามารถลดตัวเลขหนี้สาธารณะให้ลดลงได้

“จากข้อมูลที่ได้รับทราบว่าในส่วนของเฟสแรกใช้เงินลงทุน 280,000 ล้านบาท ขณะที่เฟส2ใช้เงินประมาณ 420,000 ล้านบาท รวม 700,000 ล้านบาท ดังนั้นถ้าภาครัฐเร่งดำเนินการในเฟส2ด้วยการระดมทุนด้วยกองทุนวายุภักษ์ 2 ก็มีความจำเป็น เพราะจะติดกฏหนี้สาธารณะที่ไม่สามารถสูงได้เกิน50%ของตัวเลขจีดีพี เพราะหากคำนวณคร่าวๆจากตัวเลขที่ได้รับทราบพบว่าตอนนี้ตัวเลขหนี้สาธารณะอยู่ที่ 38% ยังเหลืออีก 12% ถึงจะแตะรับ50%ของจีดีพี 1%ประมาณ80,000 ล้านบาท ดังนั้น12%ก็ประมาณ 960,000 ล้านบาท

โดยภาครัฐจะใช้วิธีกู้เงิน 200,000 ล้านบาท ดังนั้นจะเหลือวงเงินอีกประมาณ 7 แสนล้านบาทนั้นคิดว่าเพียงพอต่อการสร้างรถไฟฟ้าแน่หากภาครัฐต้องการใช้เงินกู้เหล่านี้มาลงทุนก่อสร้าง แต่ถ้าตัวเลขเงินกู้สาธารณะมีอยู่สูงจนเต็มเพดานวงเงิน จะส่งผลให้โครงการอื่นๆของภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่มีเม็ดเงินที่จะมาลงทุนหรือดำเนินการในโครงการนั้นๆ เพราะถูกโยนไปลงทุนในรถไฟฟ้าหมด”

นายพิชิต กล่าวถึงหลักสำคัญในการระดมทุนกองทุนรวมวายุภักษ์2 ว่า เป็นการระดมทุนที่ทำให้ไม่ก่อเกิดหนี้สาธารณะ โดยถ้าทำได้มากเท่าใดก็ยิ่งลดเพดานหนี้สาธารณะลงมา เช่น ถ้าสามารถ ระดมทุนได้ 1แสนล้านบาท ก็จะช่วยลดหนี้สาธารณะลงมาได้ถึง 1แสนล้านบาทด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้ภาครัฐมีเงินเหลือเพื่อนำไปใช้ลงทุนในโครงเมกะโปรเจกต์อื่นๆ อาทิ โครงการเกี่ยวกับน้ำ หรือโครงการในเรื่องการศึกษา เป็นต้น

ขณะเดียวกัน กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้ภาครัฐคำนึงถึงในตอนนี้ก่อนที่จะเดินหน้าโครงการต่างๆนั่นคือ การจัดลำดับความสำคัญของโครงการเมกะโปรเจกต์ หรือโครงการต่างๆที่จะดำเนินการให้ดี เพราะบางโครงการสามารถเลี้ยงตัวเอง เช่นโครงการรถไฟฟ้าเป็นต้น ดังนั้นเงินกู้จึงเหมาะกับโครงการที่ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้นั่นเอง เพราะหากภาครัฐดำเนินการทุกโครงการพร้อมกัน เงินในการก่อสร้างก็จะไม่เพียงพอ นอกจากนี้ โครงการภาครัฐบางโครงการก็ไม่สามรถเอกชนดำเนินการแทนได้ ไม่เหมือนโครงการรถไฟฟ้า

ส่วนข้อเสนอแนะ บริษัทอีกแนวทางหนึ่งนั่นคือ การนำสินทรัพย์ของกระทรวงการคลังมาเปลี่ยนเป็นเงินสด และนำเงินสดนั้นมาลงทุนตามที่รัฐต้องการเพื่อสร้างผลตอบแทนกลับคืน หรือนำเงินสดนั้นไปลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าเลยทันที นอกจากนี้ อีกแนวคิดหนึ่งนั่นคือ การนำหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่กว่า 70,000 ล้านบาท มาแปลงเป็นเงินสดประมาณ 40,000 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติม หรือนำไปลงทุนก่อสร้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น