xs
xsm
sm
md
lg

เซ็ลทรัลฯ ส่อแห้วต่อสัญญาเช่าที่ดินลาดพร้าว รฟท.เดินหน้าเปิดประมูลใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รฟท.ฉุน! กลุ่มเซ็นทรัลฯ ยึกยักเงื่อนไขต่อสัญญาเช่าที่ดิน ห้างเซ็นทรัลฯ ลาดพร้าว เสนอผลตอบแทนแค่ 8.5 พันล. ต่ำกว่ามูลค่าปัจจุบันสุทธิ แต่ต้องการผูกขาดยาวถึง 30 ปี ลั่นเดินหน้าประมูลใหม่ เปิดทางเอกชนที่สนใจ ทั้งกลุ่มมาบุญครอง , เดอะมอลล์ ,โรงแรมดุสิตธานี และโรงแรมโนโวเทล มีโอกาสเข้าร่วมประมูล

วันนี้(9 เม.ย.) มีรายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) หรือ CPN ขอต่อสัญญาเช่าที่ดินห้างเซ็นทรัล ลดพร้าว เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยล่าสุด คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) เพื่อพิจารณาการบริหารจัดการที่ดินบริเวณปากทางลาดพร้าว ซึ่งมีนายนคร จันทศร รักษาการ ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.เป็นประธาน และได้มีการประชุมร่วมกัน หลังจากเจรจากับตัวแทนกลุ่มเซ็นทรัลฯ ที่เป็นผู้เช่าแล้ว ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ร.ฟ.ท.อาจจะไม่ต่อสัญญากับ CPN แต่จะเปิดประมูลเพื่อหาผู้ประกอบการรายใหม่แทน

ทั้งนี้ คณะกรรมการตามมาตรา 13 อ้างว่า ต้องยึดแนวทางตามที่บริษัทที่ปรึกษาเสนอมา คือ ร.ฟ.ท.ควรต่อสัญญากับ CPN เพียง 20 ปี และคำนวณว่าจะได้ผลตอบแทนรวม ณ ปัจจุบัน 11,000 ล้านบาท แต่ที่กลุ่ม CPN เสนอมา พบว่าเขาเสนอผลตอบแทนรวมให้ ร.ฟ.ท.แค่ 8,500 ล้านบาท สำหรับการต่อสัญญาอีก 20 ปี ซึ่งคณะกรรมการตามมาตรา 13 เห็นว่าต่ำกว่าที่ปรึกษาเสนอมา จึงไม่ควรต่อสัญญาอีก เพราะจะเสียประโยชน์

ส่วนกรณีที่ CPN เสนอมาว่าขอต่อสัญญาอีก 30 ปี และเมื่อรวมผลตอบแทนกับดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญา ร.ฟ.ท.จะได้รับประโยชน์ถึง 32,000 ล้านบาท พร้อมกับ CPN ได้เสนอจะปรับปรุงอาคารให้อีก 5,800 ล้านบาทด้วยนั้น คณะกรรมการตามมาตรา 13 ไม่ได้พิจารณา เพราะเห็นว่า ที่ปรึกษาไม่ได้เสนออัตราดังกล่าว จึงเกรงว่าจะเกิดปัญหาภายหลัง

สำหรับการเปิดประมูลใหม่นั้น ร.ฟ.ท.คาดว่า ต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี ขณะที่ CPN จะหมดอายุสัญญาในวันที่ 18 ธ.ค.นี้แล้ว ดังนั้น ร.ฟ.ท.จึงต้องเตรียมบริหารจัดการในช่วงที่การประมูลยังไม่เสร็จสิ้นด้วย โดยเบื้องต้น มีแนวคิดอยู่ 2 ประการ คือ การยอมให้ CPN บริหารต่อไป จนกว่าจะได้ผู้ประกอบการรายใหม่ หรือ จัดหาเอกชนรายอื่นมาบริหารแทน ซึ่งล่าสุด ได้เตรียมเชิญ เอกชนประมาณ 3-4 รายที่น่าสนใจ มาร่วมหารือภายใน1-2 วันนี้ คือ มาบุญครอง , เดอะมอลล์ ,โรงแรมดุสิตธานี และโรงแรมโนโวเทล

นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ต้องทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ด้วยว่า การหาเอกชนรายอื่นมาบริหารแทนระหว่างเปิดประมูลนั้นต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนด้วยหรือไม่ เพราะมูลค่าโครงการเกิน1,000 ล้านบาท พร้อมกับจะต้องจ้างที่ปรึกษา มาศึกษาการดำเนินกิจการตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว

ตอนนี้ ร.ฟ.ท.ได้เตรียมการประมูลใหม่แล้ว ซึ่งกว่าจะได้ตัวผู้ชนะก็ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า1 ปี ปัญหาที่สำคัญ คือ พ.ร.บ.ร่วมทุน เพราะแม้ว่าจะให้ใครบริหารแค่ปีเดียวช่วงรอประมูล แต่ก็ต้องเข้าเงื่อนไข พ.ร.บ.อยู่ดี เนื่องจากโครงการเกิน 1 พันล้าน ซึ่งเรื่องนี้บอกได้เลยว่ายุ่งยากไม่น้อย แถมต้องมาคำนวณผลตอบแทนแค่ 1 ปีด้วย ทั้งหมดเราก็ต้องถามสภาพัฒน์ฯก่อน เพราะเขาเป็นคนออกกฎหมายนี้ และต้องพิจารณารายละเอียดโครงการนี้ด้วย"แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่เตรียมเข้าร่วมประมูล ตั้งข้อสังเกตุว่า การเปิดประมูลใหม่ อาจจะสร้างปัญหาตามมามากกว่าการต่อสัญญากับผู้เช่ารายเดิม เพราะเบื้องต้น ร.ฟ.ท.จะตั้งราคากลางไว้ไม่ต่ำกว่า 11,000 ล้านบาท ตามที่ที่ปรึกษาเสนอสำหรับเงื่อนไขสัญญา 20 ปี ซึ่งผู้ที่เข้ามาใหม่จะต้องทำนุบำรุงอาคารสถานที่ทั้งหมด โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งต้องสร้างฐานลูกค้าใหม่ด้วย ซึ่งภาระดังที่กล่าวมาอาจทำให้เอกชนรายใหม่แบกรับไม่ไหว
กำลังโหลดความคิดเห็น