xs
xsm
sm
md
lg

เตือนคุมเข้มสินเชื่อเกษตร ราคาผันผวนความเสี่ยงสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ประสาร” เตือนในช่วงนี้ยังคงต้องระมัดระวังในการปล่อยกู้ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเกษตรที่จะมีการยื่นขอเข้ามามาก หลังราคาข้าวพุ่ง เตือนต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะราคาสินค้าเกษตรมีความผันผวนและอ่อนไหวต่อสถานการณ์ต่างๆ มาก และอาจทำให้กลายเป็นหนี้เสียได้

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า จากที่ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าว และราคาเนื้อสุกร ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่ใช้เพื่อการบริโภค จึงทำให้มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคทุกกลุ่ม โดยเฉพาะข้าวที่ราคาสูงมาก ส่งผลให้เกษตรกรมีความต้องการขยายพื้นที่ปลูกและเร่งผลผลิตให้เร็วยิ่งขึ้น ทำให้เกษตรกรมีการยื่นขอสินเชื่อเพื่อการเกษตรกับธนาคารกันมากขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ หากจะต้องมีการปล่อยสินเชื่อนั้น ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากสินค้าเกษตรโดยธรรมชาติแล้วมีความผันผวนมาก ทั้งเรื่องภัยธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งปัญหาภายนอกประเทศ อย่างซับไพรม์ ที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่ อีกทั้งเมื่อสินค้าการเกษตรไปผูกโยงกับปัญหาต่างๆ แล้ว ถ้าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการผลิตเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลให้อุปทานผันผวนมากยิ่งขึ้น เช่น ปกติแล้วเกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้ 100% แต่ภายในปีนั้นเกิดภัยธรรมชาติขึ้นส่งผลให้ผลิตข้าวได้ 95% หรือผลิตข้าวได้น้อยลงเพียง 5% ก็ส่งผลให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นมากแล้ว

“โดยปกติแล้วข้าวเพื่อการค้าขายทั้งประเทศ มีเพียงประมาณ 1 ใน 10 เท่านั้น ถ้าหากกำลังในการผลิตลดลงก็ยิ่งส่งผลให้เกิดความผันผวนในเรื่องของราคาสินค้ามากขึ้น และสิ่งเหล่านี้ก็ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และอุปทานภายในประเทศด้วยเช่นกัน” นายประสาร กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากสถาบันการเงินต่างๆ จำเป็นต้องมีการปล่อยสินเชื่อเพื่อการเกษตร ก็จำเป็นต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ของผู้ยื่นขอให้รอบคอบ และต้องวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อนั้นให้ถูกประเภท อีกทั้งหากเมื่อปล่อยไปแล้วต้องเฝ้าระวังอย่าปล่อยให้เกิดการค้างชำระนานจนเกินไป เพราะจะทำให้เงินค้างชำระเหล่านั้นกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เกิดขึ้นได้

ก่อนหน้านี้ นายประสาร เปิดเผยถึงตัวเลขเอ็นพีแอลโดยรวมของธนาคารในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ได้ลดลงเล็กน้อย จากสิ้นปีที่แล้วที่อยู่ที่ 4.45% แต่ในขณะนี้ยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง โดยสิ่งที่ต้องระวังคือเรื่องของอัตราค้างชำระมากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 2-3 ปีแล้วเศรษฐกิจมีการชะลอตัวและมีผลต่อมายังการใช้จ่ายที่ลดลง

สำหรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในปีนี้ยังคงอยู่ที่ 10-15% โดย 2 เดือนแรกสามารถปล่อยไปได้แล้วประมาณ 2% ส่วนเดือนที่ 3 แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างดี แต่ยังไม่สามารถจะเปิดเผยตัวเลขได้ แต่ก็เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยสินเชื่อที่ปล่อยไปแล้วนั้นส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อบรรษัท และเป็นสินเชื่อระยะสั้น จึงทำให้ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขการลงทุนได้ในขณะนี้

ขณะที่สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ของธนาคารโดยรวมอยู่ที่ระดับ 14% ซึ่งแบ่งเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ระดับ 10% และขั้นที่ 2 อยู่ในระดับ 4% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ว่าเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 รวมกันต้องไม่ต่ำกว่า 8.5% ดังนั้น ในปีนี้ธนาคารจึงไม่มีความจำเป็นในการระดมทุน หรือการออกหุ้นกู้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ธนาคารอาจจะใช้วิธีการออกตั๋วแลกเงินเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการระดมทุน
กำลังโหลดความคิดเห็น