xs
xsm
sm
md
lg

Q1 บล.ภัทรเบียดขึ้นอันดับ 2 กิมเอ็งยังรักษาตำแหน่งผู้นำโบรกเกอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ครองแชมป์ไตรมาส 1/51 มูลค่าซื้อขายรวมสูงสุด 1.9 แสนล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 8.06% ขณะที่ บล.ภัทร มาแรงรั้งตำแหน่งอันดับสอง ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวมเกือบ 1.4 แสนล้านบาท มาร์เกตแชร์ 5.82% หลังเบียด “เครดิต สวิส” ตกไปอยู่อันดับสาม มาร์เกตแชร์ที่ 5.48% ด้านผู้บริหาร “กิมเอ็ง” ยันตั้งเป้ามาร์เกตแชร์ 8-9% และเพิ่มรายได้วาณิชธนกิจ พร้อมหากำไรจากการลงทุนเพิ่ม ส่วน บล.ภัทร เน้นชูงานวิจัย-คุณภาพบริการลูกค้า หวังสร้างความพึงพอใจดึงมาร์เกตแชร์เพิ่ม

“ผู้จัดการรายวัน” ได้สำรวจส่วนแบ่งการตลาดมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ของบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ประจำไตรมาสแรก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2551 ที่มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 1,187,312.92 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 18,846.24 ล้านบาท

สำหรับโบรกเกอร์ที่มีมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ KIMENG มูลค่าซื้อ 96,683.79 ล้านบาท มูลค่าขาย 94,665.11 ล้านบาท รวมมูลค่าการซื้อขาย 191,348.90 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) 8.06% อับดับสอง บล.ภัทร หรือ PHATRA มูลค่าซื้อ 64,379.17 ล้านบาท มูลค่าขาย 73,738.45 ล้านบาท รวมมูลค่าการซื้อขาย 138,117.63 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 5.82% (ตารางประกอบข่าว)

อันดับสาม บล.เครดิต สวิส (ประเทศไทย) หรือ CS มูลค่าซื้อ 65,430.11 ล้านบาท มูลค่าขาย 64,631.90 ล้านบาท รวมมูลค่าการซื้อขาย 130,062.01 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 5.48% อันดับสี่ บล.เอเซีย พลัส หรือ ASP มูลค่าซื้อ 60,110.89 ล้านบาท มูลค่าขาย 62,870.24 ล้านบาท รวมมูลค่าการซื้อขาย 122,981.14 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 5.18% และอันดับห้า บล.ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS มูลค่าซื้อ 59,873.41 ล้านบาท มูลค่าขาย 60,936.29 ล้านบาท รวมมูลค่าการซื้อขาย 120,809.70 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 5.09%

ขณะที่ในงวดสิ้นปี 2550 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 4,188,776.73 ล้านบาท โดยโบรกเกอร์ที่มีการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ KIMENG มูลค่าซื้อ 332,152.24 ล้านบาท มูลค่าขาย 340,060.39 ล้านบาท รวมมูลค่าการซื้อขาย 372,212.63 ล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 8.02% อับดับสอง บล.เอเซีย พลัส หรือ ASP มูลค่าซื้อ 237,310.49 ล้านบาท มูลค่าขาย 243,257.94 ล้านบาท รวมมูลค่าการซื้อขาย 480,568.43 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 5.74%

อันดับสาม บล.ภัทร หรือ PHATRA มูลค่าซื้อ 240,265.92 ล้านบาท มูลค่าขาย 239,316.87 ล้านบาท รวมมูลค่าการซื้อขาย 479,582.79 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 5.72% อันดับสี่ บล.เครดิต สวิส (ประเทศไทย) หรือ CS มูลค่าซื้อ 229,979.25 ล้านบาท มูลค่าขาย 216,543.12 ล้านบาท รวมมูลค่าการซื้อขาย 446,522.36 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 5.33% และอันดับห้า บล.ไทยพาณิชย์ หรือ SCBS มูลค่าซื้อ 223,828.82 ล้านบาท มูลค่าขาย 203,356.07 ล้านบาท รวมมูลค่าการซื้อขาย 427,184.89 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 5.10%

จากการพิจารณาส่วนแบ่งการตลาดของโบรกเกอร์ 5 อันดับแรก งวดไตรมาสแรกปี 2551 เทียบกับงวดปี 2550 แล้วพบว่า โบรกเกอร์ทั้ง 5 รายยังคงติดอันดับ 5 โบรกเกอร์ที่มีการซื้อขายสูงสุด และส่วนใหญ่มีมาร์เกตแชร์เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนเล็กน้อย ยกเว้น บล.เอเซีย พลีส และไทยพาณิชย์ ที่มาร์เกตแชร์ลดลงเล็กน้อยเหลือ 5.18% และ 5.09% จากงวดสิ้นปี 2550 มาร์เกตแชร์อยู่ที่ 5.74% และ 5.10% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอันดับของแต่ละโบรกเกอร์ ปรากฏว่า บล.กิมเอ็ง ยังคงสามารถครองแชมป์โบรกเกอร์ที่มีมาร์เกตแชร์สูงสุดเป็นอับดับหนึ่ง และส่วนแบ่งการตลาดขยับเพิ่มขึ้นเป็น 8.06% จากงวดสิ้นปีอยู่ที่ 8.02% ขณะที่ บล.ภัทร ได้เบียดแซงผู้นำเบอร์ 2 อย่าง บล.เอเซีย พลัส ที่ตกอันดับมาอยู่อันดับที่สี่ ด้วยมาร์เกตแชร์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 5.82% จากสิ้นปีอยู่อันดับ 2 มาร์เกตแชร์ 5.72%

ขณะที่อันดับสาม นั้น บล.เครดิต สวิส ได้ขยับขึ้นจากอันดับที่สี่ในงวดสิ้นปี 2550 และมาร์เกตแชร์เพิ่มขึ้นเป็น 5.48% จาก 5.33% ส่วนอันดับห้า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงยังตกเป็นของ บล.ไทยพาณิชย์ ที่มาร์เกตแชร์ปรับตัวลดลงเล็กน้อยเหลือ 5.09% จากงวดสิ้นปีอยู่ที่ 5.10%

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2551 บริษัทตั้งเป้าส่วนแบ่งมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไว้ที่ระดับ 8-9% ของมูลค่าการซื้อขายตลาดรวมทั้งหมด ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนจะขยายสัดส่วนรายได้วาณิชธนกิจเพิ่มขึ้นเป็น 6-8% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีสัดส่วนรายได้วาณิชธนกิจเพียง 4% เท่านั้น ขณะที่รายได้ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจค้าหลักทรัพย์ ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ รายได้จากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ

นายบุญชัย ศรีปรัชญาอนันต์ กรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บริหาร บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะใช้เงินลงทุนประมาณ 500-1,000 ล้านบาท ลงทุนในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทั้งในและนอกตลาด โดยคาดหวังผลตอบแทนประมาณ 15% ต่อปี สำหรับปัจจัยที่จะกระทบกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท คือ ปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจในประเทศ การปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพภาคอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) และปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ภัทร กล่าวถึงปัจจัยที่สนับสนุนให้ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 3 เป็นอันดับ 2 ว่า บริษัทยึดนโยบายมุ่งเน้นคุณภาพของการแนะนำลูกค้า การดูแลลูกค้า รวมถึงการพัฒนางานวิจัยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อความถูกต้องในการให้การแนะนำกับลูกค้าของบริษัท รวมถึงกลยุทธ์การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการของบริษัท

“บริษัทไม่มีกลยุทธ์อะไรเป็นพิเศษ และไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าต้องได้มาร์เกตแชร์เท่าไหร่ เพียงแต่เรามุ่งเน้นการให้บริการที่มีคุณภาพ ดูแลลูกค้าให้ดีที่สุด รวมถึงงานวิจัยที่ถูกต้อง ครบถ้วนแก่ลูกค้า ซึ่งบริษัทเชื่อว่าหากเรามีการบริการที่ลูกค้าพึงพอใจ และงานวิจัยที่มีคุณภาพแล้ว จะช่วยสนับสนุนและผลักดันให้มาร์เกตแชร์บริษัทเพิ่มขึ้นตามมาเอง”

นายสุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนลูกค้าบุคคลดีขึ้น โดยขยับขึ้นมาจาก 2.6% เป็น 3% ของลูกค้าบุคคลทั้งหมดในตลาด ส่วนลูกค้าสถาบันในประเทศบริษัทมีสัดส่วน 13% ของลูกค้าสถาบันในตลาดไม่นับรวมบริษัทหลักทรัพย์ที่มีพอร์ตซื้อขายเพื่อตัวเอง และบริษัทมีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติ 9.8% ของลูกค้าต่างชาติทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์
กำลังโหลดความคิดเห็น