xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์กังวลส่วนต่าง ออนชอร์-ออฟชอร์ คาดบาทแข็งแตะ 31 บาท/ดอลลาร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บิ๊ก บล.กสิกรฯ ชี้ ผลกระทบเฟดหั่น ดบ.ลงเหลือ 2.25% กดดัน กนง.ตัดสินใจใช้นโยบายคุมตลาดเงิน เพราะส่วนต่าง ดบ.ที่ห่างกันสูงมากขึ้น อาจทำให้มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลทะลักเข้ามาเก็งกำไร ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเงินบาทแข็งค่าแตะ 31.00 บาท/ดอลลาร์ ผู้ส่งออกอาจมีการเทขายลดความเสี่ยง โดยเช้านี้ เงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ 31.15 บาท/ดอลลาร์

วันนี้ (19 มี.ค.) นายรพี สุจริตกุล ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KSEC กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.75% แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลของสหรัฐพร้อมจะเข้ามาช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันได้สร้างแรงกดดันต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยเฉพาะการประชุมรอบต่อไปของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 9 เม.ย.นี้ เพราะอัตราดอกเบี้ยของไทยในปัจจุบันเมื่อเทียบกับสหรัฐฯมีอัตราที่ห่างกันมาก ซึ่งจะส่งผลให้มีเงินไหลเข้าและทำให้เงินบาทยิ่งแข็งค่าขึ้น

“ธปท.คงจะต้องพิจารณาหลายอย่าง ทั้งเรื่องของการแข็งค่าเงินบาท ตัวเลขส่งออก เงินทุนไหลเข้า และอัตราเงินเฟ้อ เพราะในแง่ของเศรษฐกิจ การชะลอเงินเฟ้อง่ายกว่าการแก้ไขปัญหาการถดถอยของเศรษฐกิจ เพราะมีเครื่องมือมากกว่า”

สำหรับผลต่อตลาดหุ้นไทย หลังเฟดปรับลดดอกเบี้ย นายรพี มองว่า ตลาดหุ้นจะได้รับผลดีเนื่องจากช่วยลดแรงกดดันจากต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าตลาดหุ้นไทยมีความอ่อนไหวทั้งจากปัจจัยต่างประเทศและปัจจัยด้านการเมืองในประเทศเอง

อย่างไรก็ตาม มองว่า หุ้นไทยยังแกว่งตัวเพราะมีปัจจัยในประเทศโดยเฉพาะการเมืองเข้ามา เพราะฉะนั้นนักลงทุนควรหาจังหวะในการเข้าลงทุนซื้อและขายทำกำไรเร็วขึ้น

**คาดบาทแข็งแตะ 31.15 บาท/ดอลลาร์

นักวิเคราะห์บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า ภายหลังเฟดประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงอีก 0.75% โดยเหลือเพียง 2.25% นั้น คาดว่า จะส่งผลให้ค่าเงินบาทหลังเปิดตลาดในเช้าวันนี้แข็งตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการแข็งค่าต่อเนื่องภายหลังปิดตลาดเมื่อวานนี้ที่ระดับ 31.19 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากมีสัญญาณของการไหลเข้าของเงินทุน ประกอบกับการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ ปัจจัยที่กำหนดทิศทางของค่าเงินบาทยังเป็นเรื่องแรงขายเงินดอลลาร์จากผู้ส่งออก และแม้ว่าเฟดจะไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยแรงเท่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แต่แนวโน้มการปรับลดออัตราดอกเบี้ยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ค่าเงินบาทในรอบสัปดาห์นี้จะอยู่ในระดับ 31-31.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่แรงเท่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นในสหรัฐฟื้นตัวขึ้นอย่างมาก ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเช่นกัน

**ค่ายใบโพธิ์ เชื่อบาทแข็งแค่ระยะสั้น

สำหรับภาวะค่าเงินบาท เช้านี้ เปิดตลาดที่ 31.14-31.16 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจากวานนี้ ที่ระดับ 31.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นักค้าเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCB กล่าวถึงค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก เมื่อวานนี้ หลังเฟด ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.75% ซึ่งถือว่าเป็นไปตามที่ตลาดคาด แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นการปรับลดที่มากเกินไป เพราะบางส่วนตลาดคาดว่าจะปรับลดถึง 1% โดยมองว่าปัจจัยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดนี้จะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าในระยะสั้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ยังต้องติดตามดูปัจจัยจากการประกาศผลประกอบการของสถาบันการเงินสหรัฐ ที่ทยอยประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง ว่าทิศทางจะออกมาเป็นเช่นใด

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทวันนี้ คาดว่า จะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.08-31.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยแนวโน้มยังเป็นการรเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า

**ชี้ส่วนต่าง “ออนชอร์-ออฟชอร์” กดดันค่าเงินบาท

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ ธปท.ตัดสินใจยกเลิกมาตรการสำรองเงินทุนนำเข้าระยะสั้น 30% ซึ่งแบ่งตลาดเงินออกเป็น 2 ตลาดระหว่างตลาดต่างประเทศ (OFF Shore) และตลาดในประเทศ (On Shore) กลับปรากฏว่า มาตรการที่เคยผ่อนปรนออกไปก่อนหน้า และมาตรการที่ออกมารองรับ เช่น เพิ่มอุปทานเงินบาทในตลาดซื้อขายเงินบาทต่างประเทศให้มากขึ้น โดยหวังจะลดการเก็งกำไรเงินบาทลง ด้วยการเพิ่มวงเงินการให้กู้ยืมเงินบาท หรือเสมือนการให้กู้ยืมเงินบาทของสถาบันการเงินในประเทศกับผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-Resident : NR) จากยอดคงค้างไม่เกิน 50 ล้านบาท ขึ้นเป็นยอดคงค้างไม่เกิน 300 ล้านบาท

รวมทั้งการอนุญาตให้การชำระเงินค่าสินค้านำเข้า และส่งออก ที่ทำธุรกรรมในตลาดต่างประเทศสามารถนำมาชำระในตลาดในประเทศ (On Shore) เป็นสกุลเงินบาทเข้าบัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-Resident Baht Account : NRBA) รวมถึงอนุญาตให้บริษัทลูกในไทยสามารถให้บริษัทแม่ในต่างประเทศกู้ยืมเงินบาท และสามารถนำมาฝากถอนในประเทศผ่านบัญชี NRBA ได้ด้วยนั้น

นักค้าการเงินจากธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ต่างออกมาเตือนว่า เขากำลังมองเห็นสัญญาณในทางร้ายกลับมาอีกครั้ง เมื่อเงินบาทในตลาดต่างประเทศซึ่งซบเซาไป ได้กลับมาฟื้นคืนชีพ และคึกคักอีกครั้ง ทั้งยังมีแนวโน้มขยายตัวกลับไปใหญ่เท่ากับก่อนปี 2540 ที่ ธปท.เคยต้องใช้เงินทุนสำรอง 38,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะนั้น คิดเป็นเงินเกือบ 1 ล้านล้านบาท ไปจนเกือบหมดหน้าตัก เพื่อสู้กับนักเก็งกำไรที่กำเงินบาทอยู่

นักค้าเงินหลายแห่งต่างระบุตรงกันว่า ช่องทางการปล่อยเงินบาทของ ธปท.และการยินยอมให้ธุรกรรมซื้อขายเงินบาท และเงินตราต่างประเทศในตลาดต่างประเทศ ชำระเงินบาทในประเทศได้ กำลังส่งผลให้ธุรกรรมการค้าขายเงินบาทในตลาดต่างประเทศ ที่เคยลดลงมากในช่วงการใช้มาตรการสำรอง 30% ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และในที่สุด หาก ธปท.ไม่ปิดช่องโหว่ หรือไม่พยายามลดบทบาทของธุรกรรมเงินบาทของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศลง

ในขณะที่ ธปท.ไม่สามารถออกกฎเกณฑ์ควบคุมไม่ให้เกิดการเก็งกำไรค่าเงินได้ในที่สุด จะเป็นโอกาสนักลงทุนต่างชาติมีเงินบาทอยู่ในมือจำนวนมาก และมีคนแห่ไปทำธุรกรรมเงินบาทในตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพราะไม่มีกฎเกณฑ์บังคับเหมือนที่ ธปท.ออกมาคุมตลาดในประเทศ แนวโน้มการเก็งกำไรเพื่อหาส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติจะกลับมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ เพราะหากธุรกรรมการซื้อขายเงินบาทในต่างประเทศมีมากกว่าในประเทศ การควบคุมเงินบาทในประเทศจะทำยากมากขึ้น และคนที่จะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทในแต่ละวันอาจจะไม่ใช่ ธปท.อีกต่อไป แต่จะเป็นกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติ เหมือนที่เกิดขึ้นทุกครั้งในการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ว่าในปี 2540 หรือปี 2550 ที่ผ่านมา จะเห็นว่า การเก็งกำไรค่าเงินบาทจะเริ่ม และรุนแรงในตลาดต่างประเทศก่อนและหากเป็นเช่นนั้น การเข้าแทรกแซง หรือพยุงค่าเงินบาทของ ธปท.ในเวลานั้นอาจไม่ประสบผลสำเร็จ

**ธปท.จนแต้ม! ไร้เครื่องมือดูแลค่าเงิน

ผู้เชี่ยวชาญด้านปริวรรตเงินตราจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ให้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ มากว่า ในช่วงที่ ธปท.ตัดสินใจยกเลิกมาตรการสำรอง 30% นอกเหนือจากการมองจังหวะเวลาที่เหมาะสมแล้ว ยังมีแรงกดดันทางการเมืองมาประกอบการตัดสินใจด้วย ทำให้ไม่ได้วางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่า ธปท.จะดูแลตลาดซื้อขายเงินบาทในต่างประเทศอย่างไรจึงจะเหมาะสม และสร้างเสถียรภาพให้ค่าเงินบาทมากที่สุด ไม่ใช่กลายเป็นหอกข้างแคร่ที่จะสร้างพฤติกรรมการเก็งกำไรค่าเงินบาทให้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ จากการสำรวจตลาดเงินในภูมิภาคนี้ จะพบว่านอกจากไทยแล้ว ประเทศที่ยินยอมให้มีการซื้อขายเงินตราสกุลท้องถิ่นของตนเองในตลาดต่างประเทศ มีเพียงญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ เท่านั้น เนื่องจากเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค แต่ ในประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน จะมีมาตรการดูแลเงินสกุลท้องถิ่นไม่ให้ตกอยู่ในมือของต่างชาติ ที่สำคัญไม่ยินยอมให้การทำธุรกรรมซื้อเงินในตลาดต่างประเทศ มาชำระในประเทศหรือฝากถอนผ่านบัญชี NRBA ได้

สำหรับกฎเกณฑ์ที่ ธปท.ออกมาเพื่อควบคุมเงินบาทในบัญชี NRBA ซึ่งกำหนดยอดคงค้าง ณ สิ้นวันจะต้องไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อกลุ่ม NR นั้น ธปท.จะต้องพิจารณาด้วยว่า ในระหว่างวัน มีการซื้อขายเงินบาท และเงินตราต่างประเทศที่แท้จริงมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเมื่อวงเงินในการซื้อขายสินค้าส่งออก และนำเข้ามีสัดส่วนที่มากที่สุดในการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ นักเก็งกำไรค่าเงินอาจจะเพิ่มสภาพคล่องให้กับตัวเองได้มากกว่า ที่ ธปท.รับรู้ ตราบใดที่สามารถคุมส่วนต่างได้ไม่เกินยอดคงค้าง 300 ล้านบาทในแต่ละวัน

**แนะออกพันธบัตร-ลดดอกเบี้ย

ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินและเศรษฐศาสตร์ แสดงความเห็นว่า ในระยะแรกเพื่อที่จะดึงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของตลาดเงินบาทในประเทศและต่างประเทศ ที่ถูกแยกอัตราออกจากกันด้วยมาตรการสำรอง 30% ธปท.อาจต้องปล่อยเงินบาทออกไปเพื่อให้สัญญาซื้อขายเงินตราที่ทำให้ตลาดต่างประเทศช่วงก่อนหน้า มีเงินบาทมาส่งมอบได้ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศอ่อนค่าลงมาใกล้เคียงกับตลาดในประเทศ

โดยขณะนี้อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดต่างประเทศ และในประเทศ วานนี้ ขยับเข้ามาใกล้เคียงกันแล้วที่ 31.20-31.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่ ธปท.จำเป็นต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในตลาดต่างประเทศได้แล้วว่า จะทำอย่างไรต่อไป จะต้องการให้ตลาดต่างประเทศโตขึ้นต่อเนื่องเหมือนในอดีต หรือทำความเข้าใจแล้วว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ประเทศไทยอาจจะยังไม่พร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค และพยายามลดบทบาทของตลาดเงินบาทในต่างประเทศลงเพื่อป้องกันการเก็งกำไรที่จะกลับมาอีก หรือหากเป็นไปได้ที่จะปิดตลาดเงินบาทในต่างประเทศไปเลย ก็จะช่วยลดความผันผวนของเงินบาทได้

ส่วนเงินบาทที่ ธปท.ปล่อยออกไปในต่างประเทศ ทั้งจากช่องโหว่ของมาตรการ และการแทรกแซงค่าเงินบาทของ ธปท.ในตลาดซื้อขายเงินบาทในต่างประเทศนั้น จำเป็นจะต้องออกพันธบัตรเพื่อดูดเงินกลับเข้า หรืออีกทางหนึ่งต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงโดยเร็วที่สุด เพื่อเปลี่ยนมุมมองต่อค่าเงินบาทของนักลงทุนจากการแข็งค่า เป็นมีโอกาสที่จะอ่อนค่า ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายเงินบาทออกมา และเงินบาทอ่อนค่าลงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น