xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ยื้อโอนทรัพย์สินคืนคลัง ร้องศาลปกครองยืดเวลา 60 วัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท.ยื้อโอนท่อก๊าซพร้อมทรัพย์สินคืนคลัง ยื่นศาลปกครองสูงสุดขยายเวลาออกไปอีก 60 วัน หลังครบกำหนดเมื่อวันที่ 2 มี.ค.50 ที่ศาลอนุญาตให้ยืดมาแล้วครั้งหนึ่ง ขณะที่บอร์ดอนุมัติร่วมกับปตท.สผ.ปล่อยกู้ให้บริษัทย่อย “เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์” วงเงินรวม 8 พันล้านบาท

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการโอนทรัพย์สินบางส่วนคืนให้กับภาครัฐตามคำสั่งพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ว่า เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ศาลปกครองสูงสุดได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลาการโอนทรัพย์สินออกไปอีก 60 วัน จากเดิมที่จะครบกำหนดในวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา ตามคำร้องที่บริษัทได้ยืนขอขยายระยะเวลาในการโอนทรัพย์สินดังกล่าว

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 ศาลปกครองสูงสุดได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลาการปฏิบัติตามคำพิพากษาออกไปอีก 30 วัน (ครบกำหนด 2 มี.ค.51) หลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2551 อนุมัติบุคคลเป็นคณะกรรมการ และได้นำความกราบบังคมทูลฯพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงแต่งตั้งคณะกรรมการ โดยพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งประธานกรรมการและคณะกรรมการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551

***ปตท.-ปตท.สผ.ปล่อยกู้บริษัทย่อย

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท.ได้มีมติอนุมัติให้ปตท.ร่วมกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ปล่อยเงินกู้ให้แก่บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (ENCO) ในวงเงินไม่เกินรายละ 4,000 ล้านบาท รวมไม่เกิน 8,000 ล้านบาท ซึ่งได้ลงนามไปเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 โดยสัญญาเงินกู้ดังกล่าวคิดอัตราดอกเบี้ยในเชิงพาณิชย์ ระยะเวลาเงินกู้ 13 ปี เว้นแต่ ENCO จะจัดหาเงินกู้ใหม่เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้จากผู้ถือหุ้นทั้งหมด

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ว่า ปตท.ร่วมกับ ปตท.สผ.ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (ENCO) เพื่อพัฒนาและบริหารโครงการศูนย์พลังงานแห่งชาติ ในสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 50 : 50 โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ล้านบาท ปัจจุบันได้ทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนชำระแล้วเป็น 800 ล้านบาท

สำหรับรายละเอียดทรัพย์สินที่ ปตท.ต้องโอนคืนให้กระทรวงการคลัง ประกอบด้วย 1.ที่ดินที่การปิโตรเลียมฯ ได้มาโดยการใช้อำนาจเวนคืน เนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ 2.สิทธิเหนือที่ดินของเอกชนซึ่งการปิโตรเลียมฯ ได้ใช้อำนาจมหาชนและได้จ่ายเงินค่าทดแทนโดยอาศัยทรัพย์สินของการปิโตรเลียมฯ และ 3 ทรัพย์สินที่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งทรัพย์สินที่ประกอบกันเป็นระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ส่วนที่อยู่ในที่ดินเวนคืนตามข้อ 1.และที่ดินของเอกชนตามข้อ 2.ซึ่งรวมถึงระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติโครงการท่อบางปะกง-วังน้อย โครงการท่อจากชายแดนไทยพม่า-ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี-วังน้อย
หลังจากนั้น ให้กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์รับไปดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิดอัตราค่าเช่าในส่วนของทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อ เพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าเช่าให้แก่ ปตท.โดยหลักเกณฑ์ในการคิดค่าเช่าจะต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักการทางการค้าที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย

ล่าสุด หลักเกณฑ์การคิดค่าเช่าทรัพย์สินจะใช้ในลักษณะของการแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) โดยรายได้ค่าผ่านท่อที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง เพื่อนำมาใช้ในการคำนวณค่าเช่าจะคำนวณจากรายได้ค่าผ่านท่อที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปีคูณสัดส่วนระยะทางของท่อที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง

ขณะที่อัตราค่าเช่าจะกำหนดตามอัตราขั้นบันได ดังนี้ รายได้ค่าผ่านท่อที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง 0-3,600 ล้านบาท อัตราค่าเช่า 5% รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 3,601-3,700 ล้านบาท อัตราค่าเช่า 10% รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 3,701-3,900 ล้านบาท อัตราค่าเช่า 15% รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 3,901-4,100 ล้านบาท อัตราค่าเช่า 20% รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 4,101-4,300 ล้านบาท อัตราค่าเช่า 25% รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 4,301-4,500 ล้านบาท อัตราค่าเช่า 30% และรายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 4,501-5,000 ล้านบาท อัตราค่าเช่า 36%

ทั้งนี้ สัญญาเช่าดังกล่าวมีกำหนด 30 ปี และ ปตท.สามารถต่อสัญญาออกไปได้อีกคราวละ 30 ปี โดยภาระค่าเช่าต่อปีที่ ปตท.ต้องจ่ายให้กับกระทรวงการคลังจะต้องไม่ต่ำกว่า 180 ล้านบาท และสูงสุดไม่เกิน 550 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม อัตราค่าเช่าจะคำนวณย้อนหลังนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่มีการแปลงสภาพการปิโตรเลียมฯ เป็น ปตท. โดยจากการคำนวณตัวเลขเบื้องต้นของ ปตท. คาดว่า ค่าเช่าพร้อมดอกเบี้ยไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ถึงสิ้นปี 2550 คิดเป็นเงินรวมประมาณ 1,520 ล้านบาท ซึ่ง ปตท.ได้ลงนามในสัญญาดังกล่าวเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
กำลังโหลดความคิดเห็น