xs
xsm
sm
md
lg

คปภ.เล็งชงปิด3บริษัทประกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คปภ.ขีดเส้นตาย 29 ก.พ.นี้ครั้งสุดท้าย หาก 3 บริษัทประกันที่มีปัญหา ทั้งสัมพันธ์ประกันภัย ธนสินประกันภัย และแอ๊ดวานซ์ประกันภัย ไม่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูธุรกิจที่เสนอมา เตรียมชงบอร์ดสั่งปิดกิจการถาวร ส่วนการแก้ไขปัญหาแชร์รถตู้ ได้ข้อสรุป หากมีหลักฐานจากตำรวจยืนยันรถหายจริง บริษัทประกันพร้อมจ่าย เผยไทยเศรษฐกิจประกันภัยเจอหนักสุดรับประกันสูงสุดถึง 55 คัน จาก 600 คัน

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจการประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแก้ไขปัญหาบริษัทประกันภัยขาดสภาพคล่องทางการเงินว่า ได้แจ้งให้บริษัทขาดสภาพคล่องทุกบริษัทดำเนินการแก้ไขสภาพคล่องตามแผนฟื้นฟูที่แจ้งไว้กับคปภ.ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 29 ก.พ.นี้ ซึ่งหลังจากนั้นจะไม่มีการผ่อนปรนใดๆ อีก โดยเฉพาะบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย บริษัทธนสินประกันภัย และบริษัทแอ๊ดวานซ์ประกันภัย โดยคปภ. ได้เตรียมเสนอบอร์ดคปภ.ที่จะประชุมต้นเดือนมี.ค. ดำเนินการขึ้นเด็ดขาดพิจารณาใช้มาตรการสูงสุดถอนใบอนุญาติประกอบการธุรกิจและสั่งปิดกิจการอย่างถาวร

"ที่ผ่านมา คปภ. ได้มีการผ่อนปรน และยืดระยะเวลาการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้กับบริษัทข้างต้นมาระยะหนึ่งแล้ว และกลับพบว่าบริษัทไม่ได้ดำเนินการตามที่แจ้งไว้กับคปภ. โดยเฉพาะการไม่จ่ายชำระหนี้ที่ค้างชำระให้กับผู้เอาประกัน และเอาเงินเข้ากองทุนตามกฎหมายตามเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งคปภ. จะไม่ผ่อนปรนอีก จะต้องดำเนินการตามระเบียบ"นางจันทรากล่าว

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องที่ผ่านมา บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ได้แจ้งว่ามีผู้ลงทุนใหม่จากต่างชาติเข้าถือหุ้นแล้ว และจะเข้าพบคปภ.ในวันที่ 29 ก.พ.นี้ ส่วนบริษัท ธนสินประกันภัย แจ้งว่าจะนำผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้าพบคปภ.ในวันที่ 22 ก.พ. ขณะที่บริษัท แอ๊ดวานซ์ประกันภัย เตรียมนำเงินเข้ากองทุนเร็วๆ นี้ ส่วนบริษัท สหประกันชีวิต ได้มีผู้ถือหุ้นรายใหม่แสดงความจำนงเข้าถือหุ้นแล้ว

นางจันทรากล่าวว่า สำหรับการไกล่เกลี่ยเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างผู้เสียหายกรณีแชร์รถตู้กับบริษัทประกันภัยวันแรก วานนี้ (20 ก.พ.) เพื่อขอให้คุ้มครองความเสียหายกรณีรถหาย ปรากฏว่ามีผู้เสียหายเข้าร้องเรียนประมาณ 600 ราย จำนวนกว่า 600 คัน รวมเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท โดยมีการทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยรวม 26 ราย ในจำนวนนี้ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย มากที่สุดจำนวน 55 คัน คิดเป็นมูลค่า 36 ล้านบาท รองลงมา คือ บริษัทวิริยะประกันภัย 53 คัน มูลค่า 31 ล้านบาท บริษัทไอโออิประกันภัย 49 คัน มูลค่า 28 ล้านบาท ที่เหลือเฉลี่ยต่ำกว่า 15 คันต่อบริษัท และจำนวน 2 คัน มูลค่า 1.5 ล้านบาท ทำประกันภัยไว้กับบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย ซึ่งผู้เสียหายยังสามารถยื่นหลักฐานเพื่อพิจารณาเรียกค่าชดเชยได้ต่อเนื่องที่คปภ. (สนามบินน้ำ) ชั้น 4 ในวันทำการ

"รายใดจะได้ความคุ้มครองอย่างไรหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ตำรวจและบริษัทประกันภัยนั้นๆ หากพิสูจน์แล้วพบว่ารถหายจริงต้องได้รับค่าชดเชยจากบริษัทประกันภัยภายใน 15 วัน ซึ่งส่วนใหญ่ทำประกันภัยชั้น 1 ที่ได้รับความคุ้มครองชดเชยกรณีรถหายและไฟไหม้ด้วย ส่วนกรณีกรมธรรม์ประกันภัยมีการระบุห้ามให้เช่าหรือเปลี่ยนมือแล้วไม่ได้รับความคุ้มครอง เพราะป้องกันการให้ยืมหรือเช่าต่อแล้วไปเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วมาเรียกร้องความคุ้มครอง แต่กรณีรถหายต้องมีการพิสูจน์หายจริงบริษัทประกันภัยจะรับพิจารณาการจ่ายและขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ระบุไว้ "นางจันทรา กล่าว

อย่างไรก็ตาม อยากเตือนให้เอาประกันภัยหรือประกันชีวิตอ่านรายละเอียดให้ชัดเจนก่อนทำประกันภัย เพราะมักมีข้อยกเว้น และจะได้ไม่เป็นปัญหาภายหลัง หากประชาชนต้องการความเข้าใจเรื่องประกันหรือได้รับความไม่เป็นธรรมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วน 1186 ในส่วนการร้องขอให้สถาบันการเงินปล่อยกู้(ไฟแนนซ์) ยืดระยะเวลาชำระหนี้อีกไปเกิน 2-3 เดือนนั้น ทางสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้นัดให้ผู้เสียหายไกล่เกลี่ยกับบริษัทไฟแนนซ์ที่สคบ.ในวันที่ 22 ก.พ.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น