ครม.หมัก 1 ฟ่อมาตรการกันสำรอง 30% ประกาศตัดทิ้ง ออกไปจากนโยบายหลักแล้ว พร้อมโยน รมว.คลังตัดสินใจ "ภาคเอกชน" แห่เตือนสติขุนคลังมือใหม่ ชี้การยกเลิกกันสำรอง 30% ต้องพิจารณาให้รอบคอบ
วันนี้(10 ก.พ.) แหล่งข่าวจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ตัดมาตรการการกันเงินทุนสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกไปจากนโยบายของรัฐบาล จากเดิมที่มีการบรรจุเอาไว้ โดยจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ที่จะเข้าไปประสานกับ ธปท.เพื่อความเหมาะสม
ด้านการร่างนโยบายของรัฐบาลยังคงโครงการเพิ่มศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน หรือเอสเอ็มแอล เอาไว้เหมือนเดิม แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนโดยไม่มีการระบุถึงวงเงินที่จะจัดสรรให้กับหมู่บ้าน จากเดิมที่ได้กำหนดไว้ว่าหมู่บ้านขนาดเล็ก กลาง และใหญ่จะได้เพิ่มวงเงินจำนวน 3 แสนบาท 4 แสนบาท และ 5 แสนบาท ตามลำดับ แต่จะกำหนดลงไปในช่วงที่ดำเนินโครงการแทน
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาตลาดทุนไทย กล่าวถึงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จะหารือถึงการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ โดยคาดหวังว่าการพิจารณาเรื่องดังกล่าวจะอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง และจะได้ข้อสรุปที่ดี หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้รายงานข้อเท็จจริงให้ทราบ ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย คงต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าว
นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานหอการค้าไทย ต้องการให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม หลังการยกเลิกมาตรการนี้แล้ว ซึ่งหากรัฐบาลตัดสินใจยกเลิกมาตรการกันสำรองจริง ก็ควรจะมีมาตรการออกมาดูแลค่าเงินบาท เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ส่งออก
นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการ เชื่อว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะรับฟังข้อมูล ข้อเสนอแนะ จากธนาคารแห่งประเทศไทย และพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ทั้งนี้ เห็นว่าจำเป็นต้องยกเลิกมาตรการนี้ แต่ต้องทำในจังหวะที่เหมาะสม โดยค่าเงินบาทต้องมีเสถียรภาพ และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคส่งออก ที่มีผลโดยตรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ