ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเม็ดเงินสะพัดช่วงตรุษจีนปีนี้ 1.6 หมื่นล้าน โดยยังมีการใช้แบบระมัดระวัง พร้อมกับรัดเข็มขัดมากขึ้น มีการลดปริมาณของเซ่นไหว้-การจ่ายอั่งเปา ทั้งเงินสดและทองคำ ผลสำรวจชี้ ราคาสินค้าที่สูงขึ้น และการค้าขายที่ฝืดเคือง ถือเป็นสาเหตุหลัก
วันนี้ (4 ก.พ.) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจประจำสัปดาห์นี้ โดยระว่าการที่ค่าเงินสกุลดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ราคาน้ำมันก็ยังทรงตัวในระดับสูง และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการทองคำแท่งของบรรดานักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่างมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และมีส่วนผลักดันให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นได้อีกในปี 2551
ขณะเดียวกัน การที่ราคาทองคำแพงขึ้นนั้นก็ทำให้ความต้องการใช้ทองคำในการผลิตและส่งออกเครื่องประดับทองมีโอกาสจะลดลงตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาดที่ชะลอตัวลงด้วย โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่กระเตื้องขึ้นเท่าที่ควร เพราะผู้บริโภคไม่มีความมั่นใจต่อรายได้ในอนาคต
ดังนั้น บรรยากาศการซื้อขายทอง รวมถึงเครื่องประดับทองในเมืองไทยในช่วงตรุษจีนปีนี้จึงน่าจะซบเซาพอสมควร โดยจากการสำรวจพฤติกรรมการแจกอั่งเปาของคนกรุงเทพฯ ช่วงระหว่างวันที่ 18-25 ม.ค.ที่ผ่านมา พบว่า คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ ตั้งงบประมาณค่อนข้างใกล้เคียงจากปีก่อน และมักจะแจกกลุ่มลูกหลานเป็นหลัก อีกทั้งสัดส่วนของกลุ่มที่ซื้อทองน้ำหนักเกิน 1 บาท ก็ลดน้อยลงโดยเปรียบเทียบจากปีที่แล้ว
ผลสำรวจระบุว่า กลุ่มที่ซื้อทองในรูปทองคำแท่งเพื่อการออม ด้วยการปรับขนาดทองให้เล็กลง เพื่อให้สอดคล้องกับกำลังซื้อที่ลดลง และอาจจะมีการปรับรูปแบบเครื่องประดับทองให้ทันสมัยมากขึ้นในระดับราคาที่เหมาะสมกับกำลังซื้อในกลุ่มสาววัยทำงาน หรือเลือกที่จะผลิตทองรูปพรรณที่มีระดับราคาต่อชิ้นที่ต่ำลง เพื่อกระตุ้นลูกค้ากลุ่มที่ซื้อทองเพื่อเป็นสินสอดทองหมั้น หรือกลุ่มที่ซื้อเพื่อมอบเป็นของขวัญ (รับขวัญสมาชิกใหม่ของครอบครัว หรือซื้อเพื่อมอบเป็นอั่งเปาในเทศกาลตรุษจีน เป็นต้น)
สำหรับพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ พบว่า ราคาสินค้าต่างๆ ที่ใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การไหว้เจ้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้น ถือเป็นประเพณี และเป็นความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับทำมาค้าขายคล่อง ตลอดจนโชคลาภ ดังนั้น ชาวไทยเชื้อสายจีนก็ยังต้องซื้อเครื่องเซ่นไหว้ แม้ว่าราคาจะแพงกว่าในปีที่ผ่านมา แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงสินค้าเครื่องเซ่นไหว้บางรายการที่ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นจะต้องมีโดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนเป็นหลัก นอกจากนี้ การที่กิจการค้าขายในปี 2550 ค่อนข้างฝืดเคือง และมีกิจการหลายแห่งปิดกิจการ ดังนั้น บางครัวเรือนก็อาจจะลดปริมาณเครื่องเซ่นไหว้ลง
ทั้งนี้ งบประมาณในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้ คนกรุงเทพฯ จำนวนร้อยละ 47.7 ตั้งงบประมาณในการซื้อเครื่องเซ่นไหว้เท่ากับปีที่แล้ว ส่วนร้อยละ 29.5 ตั้งงบประมาณลดลงจากปีที่แล้ว และมีคนกรุงเทพฯ ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ซื้อเครื่องเซ่นไหว้ร้อยละ 22.8 ที่ตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากราคาสินค้าที่แพงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ผลการสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯ ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างตั้งงบประมาณการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องเซ่นไหว้เฉลี่ยประมาณครัวเรือนละ 3,200 บาท เมื่อคำนวณการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องเซ่นไหว้โดยรวมของคนกรุงเทพฯที่มีเชื้อสายจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2551 นี้คาดว่าจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 4,600 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2550 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5
ผลสำรวจยังระบุว่า ปริมาณความมากน้อยของเครื่องเซ่นไหว้แต่ละประเภทนั้น แล้วแต่เศรษฐกิจของแต่ละครัวเรือน เช่น ถ้าผู้มีรายได้สูงก็จะจัดเครื่องไหว้ครบชุด รวมทั้งเพิ่มปริมาณเครื่องเซ่นไหว้แต่ละประเภท โดยไหว้เป็ดไก่มากกว่า 1 ตัว แต่ถ้าเป็นผู้มีรายได้น้อยก็อาจจะใช้ไข่ไก่แทนเป็ดไก่ เป็นต้น
ประเด็นที่ต้องพิจารณาในปี 2551 คือ การตรวจพบเชื้อโรคไข้หวัดนกอีกครั้งในช่วงต้นปี ส่งผลกระทบทางจิตวิทยาให้ช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ บรรดาคนไทยเชื้อสายจีนจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการเลือกซื้อสัตว์ปีกทั้งเป็ดและไก่ ตลอดจนไข่เป็ดและไข่ไก่ เพื่อไหว้เจ้าในช่วงเทศกาลตรุษจีน
ส่วนการตั้งงบประมาณในการแจกอั่งเปาปีนี้ 2551 คนกรุงเทพฯ ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56.5 ตั้งงบประมาณเท่ากับปีที่แล้ว ร้อยละ 19.8 ตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว และร้อยละ 23.7 ตั้งงบประมาณลดลงจากปีที่แล้ว ประเด็นที่น่าสนใจที่สำรวจพบ คือ การแจกอั่งเปาบุตรหลานนั้นยังคงเดิม แต่อาจจะลดจำนวนเงิน หรือน้ำหนักทองลงเล็กน้อย แต่ในส่วนที่ลดลงคือ การแจกอั่งเปาลูกจ้างที่เปลี่ยนจากการแจกทองมาเป็นการให้เงินสด หรือลดจำนวนเงินที่ให้ลง เนื่องจากกิจการค้าที่ฝืดเคืองในปี 2550
นอกจากนี้ ยังพบว่าคนกรุงเทพฯ ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่วางแผนจะแจกอั่งเปาในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ตั้งงบประมาณในการแจกอั่งเปา (รวมทั้งเงินสดและทองรูปพรรณ) อยู่ที่เฉลี่ยคนละ 8,200 บาท ใกล้เคียงกับปี 2550 แต่จากจำนวนของผู้รับแจกอั่งเปาที่ลดลง ทำให้โดยรวมแล้วมีเม็ดเงินอั่งเปาสะพัดในกรุงเทพฯใกล้เคียงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยมีมูลค่าประมาณ 6,400 ล้านบาท