xs
xsm
sm
md
lg

RATCH ลงสัญญาร่วมทุนไฟฟ้าเกาะกง ผลงานสิ้นปี 50 กำไรตกเหตุปิดซ่อมบำรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

RATCH เผยลงบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาการร่วมลงทุนกับพันธมิตร เพื่อเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าเกาะกง ประเทศกัมพูชา คาดใช้เงินลงทุนสูงถึง 2 แสนล้านบาท ขณะที่ผลงานงวดสิ้นปี 50 กำไรตก ผลจากการหยุดเดินเครื่องผลิตเครื่องโรงไฟฟ้าตามแผนบำรุงรักษาของ ผลิตไฟฟ้าราชบุรี ส่งผลให้รายได้ความพร้อมจ่ายและรายได้พลังงานไฟฟ้าลดลงจากปีก่อน

นายณรงค์ สีตสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา บริษัทได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาการร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าเกาะกง ประเทศกัมพูชา ร่วมกับพันธมิตร 2 ราย ได้แก่ บมจ. ผลิตไฟฟ้า (RATCH)และ บริษัท อิตาเลียนไทย พาวเวอร์ จำกัดซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ซึ่งโครงการดังกล่าวใน เฟสแรกจะมีขนาดกำลังการผลิตรวม 3,660 เมกะวัตต์ โดยมีเป้าหมายเพื่อนำกระแส ไฟฟ้าทั้งหมดขายกลับมายังประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาความเป็นไปได้ใน การขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)

โดยเบื้องต้นมีสัดส่วนการลงทุน โดยบริษัทฯ ร่วมกับ บมจ. ผลิตไฟฟ้า เข้าถือหุ้นในโครงการรวม 70 %ในส่วนของ บริษัท อิตาเลียนไทย พาวเวอร์ จำกัด มีสัดส่วน ถือหุ้นในโครงการร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ อีก 30 %ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าเกาะกงคาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 200,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าเกาะกง ถือเป็นโครงการลงทุนในประเทศกัมพูชาแห่งแรกของบริษัท และเป็นโครงการลงทุนในต่างประเทศลำดับที่ 5 โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิต

พร้อมกันนี้ RATCH ยังแจ้งผลการดำเนินงานงวดสิ้นปี50 สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2550 ว่าบริษัทมีกำไรสุทธิ 5,829.40 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,106.03 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรสุทธิต่อหุ้นลดลงจาก 4.21 บาทเหลือ 4.02 บาทต่อหุ้น หรือกำไรสุทธิลดลง 4.53%

สำหรับผลงานที่ลดลง เพราะบริษัทหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามแผนการบำรุงรักษา ซึ่งปี 50 บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลัก ได้ทำการหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าเพื่อทำ Major Overhaul มากกว่าปีก่อน การหยุดดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้ บริษัทฯ มีรายได้ค่าความพร้อมจ่ายและรายได้ค่าพลังงานไฟฟ้าสุทธิลดลงจากปีก่อน รวมทั้งค่าบริการบำรุงรักษาและค่าอะไหล่โรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

ขณะที่ค่าจ้างที่ปรึกษาสำหรับการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวม127.23 ล้านบาท ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารในปี 50 สูงกว่าปี 49

นอกจากนี้ รายได้อื่นซึ่งเป็นรายการที่เกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้ FGD ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อน เครื่องที่ 1 เมื่อ 13 ตุลาคม 48 ทำให้ได้รับเงินชดเชยเกือบ 500 ล้านบาท และยังบันทึกกลับการตั้งสำรองมูลค่าความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ที่มีกำไรเป็นส่วนต่างกว่า 200 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีรายได้ค่าบริการปี 50 ต่ำกว่าปี 49 สวนทางกับรายได้อื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น และส่วนแบ่งกำไรกิจการร่วมค้าสูง เพราะรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนในราชบุรีเพาเวอร์ต่ำกว่าปี 49 รวมทั้งดอกเบี้ยจ่ายลดลง จากการที่ชำระคืนหนี้เงินกู้ทุกไตรมาส
กำลังโหลดความคิดเห็น