ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ร่วงลงกว่า 10 จุด ตามทิศทางตลาดภูมิภาค มีแรงขายในหุ้นกลุ่มพลังงาน และกลุ่มแบงก์ โดยประเด็นหลักวันนี้ ยังคงเป็นผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์ โดยเฉพาะประเด็นความเสียหายของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะยังมีอีกหลายแห่ง ส่วนประเด็นการเมือง การมีรัฐบาลใหม่ถือเป็นข่าวดี แต่อาจผิดหวังตัวนายกรัฐมนตรี และโผทีมเศรษฐกิจ ที่จะโหวตเลือกในวันนี้
ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วันนี้ (28 ม.ค.) ดัชนีภาคเช้าปรับลงทันทีกว่า 10 จุด โดยเมื่อเวลา 10.10 น.ดัชนีอยู่ที่ระดับ 749.13 จุด ลดลง 10.59 จุด เปลี่ยนแปลง -1.39% นักวิเคราะห์ ระบุ ตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) เช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะประเด็นความเสียหายของสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่ง ที่คาดว่า จะปูดตัวเลขออกมาให้เห็นเป็นระลอกๆ นักลงทุนส่วนใหญ่ เริ่มมีท่าทีระมัดระวังก่อนที่มีการแถลงข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสหรัฐฯสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ มีข่าวลือสะพัดออกมาหลายระลอก โดยระบุว่า บรรดาสถาบันการเงิน จะประกาศตัวเลขหนี้เสียครั้งใหญ่ในสัปดาห์หน้า และตลาดยังรอดูการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในสิ้นเดือนก่อน
โดยภาวะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ลดลง 1.59% อยู่ที่ 1,330.61 จุด และดัชนีแนสแดก ปรับลงไป 1.47% อยู่ที่ 2,326.20 จุด หลังจากมีข่าวลือว่า ธนาคารทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไอเอ็นจีจากเนเธอร์แลนด์ และฟอร์ติส ธนาคารรายใหญ่ที่สุดในเบลเยียมจะประกาศลดมูลค่าสินทรัพย์ในสัปดาห์หน้า
นอกจากนี้ ข่าวลือว่าวาณิชธนกิจ โกลด์แมน แซคส์ จะปรับลดตำแหน่งงานครั้งใหญ่ และการโกงครั้งประวัติศาสตร์ในธนาคารโซซิเอเต เจเนราล ยังส่งผลต่อจิตวิทยาของนักลงทุนด้วย ส่งผลให้หุ้นโกลด์แมนร่วงลงไปถึง 3.8% อยู่ที่ 191.37 เหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ ซิตีกรุ๊ป ดิ่งลง 2.5% ปิดที่ 26.64 เหรียญสหรัฐฯ และ เมอร์ริล ลินช์ ลดลง 4.3% ปิดที่ 54.96 เหรียญสหรัฐฯ
นายไฮนซ์ เจิร์ด ซอนเนนชีน นักวิเคราะห์จากโพสต์แบงก์ในเยอรมนี คาดการณ์ว่า ตลาดจะปรับตัวผันผวนอีกครั้งใหญ่ในสัปดาห์หน้า ไปจนถึงอีก 2-3 สัปดาห์ แม้ว่าสหรัฐฯจะพยายามดำเนินมาตรการต่างๆ แต่ว่าข่าวร้ายๆ ยังไม่หมดลงในตอนนี้
นักวิเคราะห์ระบุด้วยว่า ตลาดต้องการความชัดเจนมากขึ้นอีกจากการประชุมของเฟด ระหว่างวันที่ 29-30 ม.ค.ซึ่งคาดว่าอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25-0.5%
สำนักข่าวบีบีซี รายงานโดยอ้างนักวิเคราะห์จากบาร์กเลย์ แคปิตอล ระบุว่า บรรดาธนาคารและสถาบันการเงิน อาจต้องหาเงินอัดฉีดพิเศษเพิ่มอีกถึง 1.43 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 4.72 ล้านล้านบาท) หากบรรดาผู้ค้ำประกันพันธบัตรที่อิงกับสินเชื่อซับไพรม์ อาทิ แอมแบค ไฟแนนเชียล กรุ๊ป และ เอ็มบีไอเอ ถูกปรับลดเครดิตความ น่าเชื่อถือลงอีก
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯเพิ่งผ่านมาตรการใช้เงิน 1.45 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ส่วนประเด็นการเมือง แม้ว่าการมีรัฐบาลใหม่จะถือเป็นข่าวดีต่อภาคการลงทุน แต่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ และตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่กำลังจะโหวตเลือกในวันนี้ สะท้อนความล้มเหลวของระบบเลือกตั้งของประเทศด้อยพัฒนาที่ผู้มีอำนาจเงินยังสามารถมีอิทธิพลบงการทิศทางของประเทศไทย ขณะที่ไม่มีประเด็นหลักที่ประกาศเสียงดังๆ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาภาคใต้จากว่าที่รัฐบาลชุดใหม่เลย
ด้าน นายวีระชัย ครองสามสี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่าย กลยุทธ์การลงทุน บล.ฟาร์อีสท์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ร่วงลงแรงกว่า 10 จุด เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากรับปัจจัยลบจากเรื่องของซับไพรม์ และผลประกอบการของแต่ละบริษัทที่ออกมาแย่ นอกจากนี้ ยังวิตกเรื่องของธนาคารโซซิเอเต เจเนอราล (ซอคเจน) ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของฝรั่งเศส ซึ่งตลาดมีความกังวลว่าเจอที่นี่แล้วจะเจอที่อื่นอีกหรือเปล่า
ทั้งนี้ หากไม่มีปัจัจจัยแรงๆ เข้ามากระทบ ให้แนวรับที่ 750-745 จุด และแนวต้าน 760-765 จุด
โดยเมื่อเวลา 11.45 น.ดัชนีอยู่ที่ระดับ 749.68 จุด ลดลง 10.04 จุด มูลค่าการซื้อขาย 5,637.63 ล้านบาท
ล่าสุด 12.30 น.ดัชนีอยู่ที่ระดับ 743.45 จุด ลดลง 16.27 จุด มูลค่าการซื้อขาย 7,265.38 ล้านบาท