นักเศรษฐศาสตร์ IMF คาดแบงค์พาณิชย์จำนวนมากอาจไม่รอดพ้นวิกฤตซับไพรม์ แนะจับตาแบงก์ขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ อาจต้องล้มทั้งยืน ขณะที่อดีต ปธ.สมาคมธนาคารไทย เชื่อสัญญาณเฟดหั่นดอกเบี้ย 0.75% ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินของไทยไม่มาก
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า วันนี้ (24 ม.ค.) นายเคนเน็ธ โรจอฟฟ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวถึงสถานการณ์ในตลาดปล่อยกู้จำนองให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพรม์) ของสหรัฐฯ ที่กำลังส่งผลกระทบลุกลามไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่า ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมาก จะไม่สามารถเอาตัวรอดจากวิกฤตการณ์ซับไพรม์ และคาดว่า มีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่แห่งหนึ่งจะต้องเผชิญวิกฤตการณ์ที่แสนสาหัส ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ
นายโรจอฟฟ์ ระบุว่า การที่ตลาดสินเชื่อทั่วโลกตกต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญนั้น จะช่วยให้การนำผลิตภัณฑ์ด้านการเงินแบบใหม่เข้าสู่ตลาดเป็นไปอย่างโปร่งใสมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลใช้มาตรการคุมเข้มอย่างระมัดระวัง อย่างไรก็ตาม โรจอฟฟ์ คาดว่า ตลาดจะยังไม่มีเสถียรภาพก่อนถึงช่วงปลายปี และคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกรอบ
ทั้งนี้ นายโรจอฟฟ์ คาดการณ์ว่า ดัชนีดาวโจนส์จะเคลื่อนไหวในกรอบ 10,000-11,000 จุด ในช่วงปลายปีนี้ และคาดว่า ตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จะทรุดตัวลงด้วย ส่วนตลาดหุ้นยุโรปคาดว่าจะได้รับแรงกดดันน้อยที่สุด
กรณีที่เกิดขึ้น คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม อดีตประธานสมาคมธนาคารไทย ได้ออกมาแสดงความเห็น โดยระบุว่า การปรับลดดอกเบี้ยของเฟด 0.75% ถือเป็นมาตรการที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปัจจุบันของประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ นายจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้พยายามใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจจากวิกฤติซับไพรม์แล้ว แต่ไม่เป็นผล คาดว่า การลดดอกเบี้ยของเฟด จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก เนื่องจากประเทศไทยยังมีจุดแข็ง ทั้งทางด้านการท่องเที่ยวและการส่งออกอาหาร แต่ก็จำเป็นต้องจับตาสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด
อดีตประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวอีกว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ เร่งสร้างความเชื่อมั่นในทุกด้านไม่เพียงเฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น และคุณสมบัติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ยังต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ ความสามารถ และรอบรู้รอบด้านทั้งนโยบายและการบริหารจัดการ