xs
xsm
sm
md
lg

"ทิสโก้" เร่งขยายรายได้ค่าฟี จับมือบ.ประกันทำธุรกิจ APL

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ทิสโก้เร่งขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ตั้งเป้าปีนี้โต 15% จากยอดคงค้าง 6.8 หมื่นล้านบาท หวังเพิ่มมาเก็ตแชร์สินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่เป็น 10% จากที่มีอยู่ 9.5% พร้อมจับมือ AIA และ AACP เดินหน้าทำธุรกิจประกันชีวิตสินเชื่อเช่าซื้อรถคาดรายได้เพิ่ม 250-300 ล้านบาท

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจลูกค้าราย่อย ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปีนี้ให้เติบโต15% จากฐานสินเชื่อเช่าซื้อคงค้าง 68,000 ล้านบาท และได้วางแผนเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดยอดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่เอาไว้ 10% จากยอดขายรถยนต์ใหม่ในปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 6.5-6.8 แสนคัน ในขณะที่ปี 50 มีส่วนแบ่ง 9.5% ปี 49 ที่มีส่วนแบ่ง7.6% ส่วนพอร์ตรถยนต์เก่ามีการขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสัดส่วน20% วางแผนเอาไว้ว่าในปีนี้จะเพิ่มเป็น22% ปี51เพิ่มเป็น 24% และปี53เพิ่มเป็น 25%ของพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทั้งหมด โดยดอกเบี้ยรถยนต์เก่าจะอิงกับเงินดาวน์ อายุรถยนต์และระยะเวลาการผ่อนชำระ โดยปกติแล้วอายุรถที่มากกว่า 5 ปีจะให้ผ่อน 4ปี ดอกเบี้ย4% หากผ่อน6ปีดอกเบี้ย4.5% สำหรับยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) นั้นรถยนต์ใหม่จะอยู่ที่ 1% รถเก่าอยู่ที่ 4%

ส่วนยอดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถนั้นในปัจจุบันอยู่ที่ 1 ,000 ล้านบาท โดยหลักการแล้ว ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ย 0.88%ต่อเดือน ซึ่งถือว่าเหมาะสมแล้วกับภาวะในปัจจุบันหากคำนวณแบบลดต้นลดดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 18%ต่อปี โดยให้วงเงิน 75%ของราคาประเมิน อายุการผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี หากรีไฟแนนซ์จะให้สูงสุด 5 ปี ส่วนประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันในขณะนี้คือ กรณีที่เป็นการขายและเช่าซื้อกลับนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ไม่อนุญาตให้ดำเนินการ แต่หากนำทะเบียนรถมาขอสินเชื่อธปท.อนุญาต เพราะรถที่นำมาจำนำนั้นเป็นรถที่ปลอดภาระการจดจำนอง ไม่มีภาระหนี้สินกับสถาบันการเงิน

นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารได้เพิ่มความสำคัญของการทำธุรกิจในการเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการหารายได้จากการเป็นหน้าขายประกัน ให้กับผู้ที่ทำการเช่าซื้อรถยนต์ผ่านธนาคาร จากในปีที่ผ่านมาธนาคารมีรายได้จากการขายประกันให้กับผู้เช่าซื้อรถยนต์ หรือ เรียกว่า Auto Loan Protection (APL) หรือ การประกันชีวิตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ บวกกับการขายประกันผ่านธนาคารกว่า 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากยอดลูกค้าที่ทำการเช่าซื้อรถยนต์กับธนาคารในจำนวน 100 ราย จะทำประกันชีวิตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์กับธนาคารถึง 60 ราย หรือคิดเป็น60%ของยอดเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ ซึ่งสูงกว่าระบบในขณะที่ระบบเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 20-30% ทั้งนี้ APL ได้เปิดตัวมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2550 แต่มาเปิดให้บริการจริงในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน สำหรับในปีนี้ได้วางแผนเอาไว้ว่าจะเพิ่มเป็น 65% และตั้งเป้ารายได้เอาไว้ 250-300 ล้านบาท โดยได้รวมการขายประกันผ่านแบงก์แล้ว โดยธนาคารได้ร่วมกับบริษัทอเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด (AIA) และ บริษัทอยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)หรือ AACP ในการดำเนินธุรกิจดังกล่าว แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นส่วน AIA มากกว่า

" ALP ส่วนใหญ่นั้นจะขายดีในภาคใต้ โดยเฉพาะสุราษฎ์ธานีและสงขลา มียอดสูงถึง70% จากยอดเช่าซื้อในขณะที่กรุงเทพและปริมณฑลมียอดเฉลี่ยอยู่ที่ 50-55%เท่านั้น ข้อดีของ ALP คือไม่ต้องทำการตรวจโรค หากลูกค้าเสียชีวิตธนาคารจะทำการปิดบัญชีให้ลูกค้าทันทียอดหนี้เหลือเท่าไหร่ไม่ต้องชำระ หากเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจะได้เพิ่มอีก 50%ของทุนประกันโดยไม่ได้คำนึงว่ามียอดหนี้เหลืออยู่เท่าไร ตัวอย่างเช่น ลูกค้ามีทุนประกันอยู่500 ,000 บาท เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ ลูกค้าจะได้รับเพิ่มอีก50%ของทุนประกันคือ ได้เพิ่มอีก 250,000 บาท รวมเป็น 750,000 บาท ที่ผ่านมามีลูกค้าเสียชีวิตเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น" นายศักดิ์ชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น