คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
อากาศเช้านี้อุ่นขึ้นกว่าเมื่อวานมาก อากาศเมื่อวานนี้หนาวเหน็บขึ้นมาอย่างกะทันหัน เล่นเอาหลายคนเกิดอาการครั่นเนื้อครั่นตัว น้ำมูกไหล ไอจาม กันไปตามๆกัน พี่หมอจึงไม่แปลกใจที่พบว่า อาหารเช้ามื้อนี้คุณชูสง่ากับเจ้าเก่งจึงนั่งแยกกัน ต่างคนต่างกินกันไปตามอัธยาศัย สภาพเจ้าเก่ง จมูกแดง ตาเยิ้ม มีทิชชูซับขี้มูกกองพะเนินอยู่ข้างจาน มองดูน่าเวทนา “เฮียหาว่าเก่งเป็นโควิดครับพี่หมอ ความจริงเก่งเป็นโรคแพ้อากาศอยู่แล้ว เป็นอย่างนี้ทุกทีเวลาอากาศเปลี่ยน” “ไม่เป็นไรไม่ต้องร้องไห้ขี้มูกโป่ง เดี๋ยวพี่ตรวจ ATK ให้”
กรมอุตุฯเตือน! ทั่วประเทศไทย สภาพอากาศในช่วงนี้จะแปรปรวนทั้งร้อนทั้งหนาว บางครั้งยังมีฝนสั่งฟ้าด้วย เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ มักทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ภูมิต้านทานลดลง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้สูงวัย เด็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หอบหืด ถุงลมโป่งพอง ซึ่งโรคที่อาจจะเกิดได้บ่อย ได้แก่
-โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดได้ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียน
อาการเริ่มจากเป็นหวัดทั่วไป มักมีไข้ น้ำมูก ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ หากอาการไอรุนแรง อาจติดเชื้อบริเวณหลอดลม หากมีน้ำมูกข้น ปวดจมูกและหว่างคิ้ว ได้กลิ่นลดลง มีกลิ่นเหม็น ซึ่งคืออาการของไซนัสอักเสบ ถ้าปอดอักเสบจากการติดเชื้อ มักมีอาการเหนื่อยและเจ็บหน้าอก
วิธีป้องกันคือ ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงไปที่ชุมชน รวมทั้งควรใส่หน้ากากอนามัยทั้งตัวเราเองและผู้ป่วยที่ต้องใกล้ชิด เมื่อไรควรมาพบแพทย์ให้สังเกตอาการตัวเองภายใน 1-2 วัน ถ้าหากมีอาการรุนแรงมากขึ้น หรือมีอาการหอบเหนื่อย ซึมลง ทานข้าวไม่ได้ จำเป็นต้องมาพบแพทย์ทันที
-โรคภูมิแพ้
อาการภูมิแพ้จะคล้ายๆกับหวัด แต่มักไม่มีไข้ มีน้ำมูก และเสมหะใสๆ จาม ระคายคอเล็กน้อย ความรุนแรงของโรคน้อยกว่ากลุ่มโรคติดเชื้อ วิธีป้องกันคือใช้ยาที่กินหรือฉีดพ่นอยู่ก่อนนอนอย่างสม่ำเสมอ รักษาตามอาการ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ดีขึ้นควรมาพบแพทย์
วิธีรับมือในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงเฉียบพลัน
1.เมื่ออากาศเย็นขึ้น ควรใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ
2.พักผ่อนให้เพียงพอ
3.ทานอาหารให้ครบ5หมู่
4.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
5.คนที่มีโรคประจำตัว ควรทานยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการของโรคเดิมให้ปกติ
แพทย์ยังเตือนอีกว่า อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ฝุ่นละออง “PM2.5” อาจกลับมาอีกครั้ง ต้องระวังป้องกัน และดูแลตัวเองให้ดีนะครับ