หมอนิธิพัฒน์ ศิริราช เผยป่วยจากฝุ่น {M 2.5 เริ่มเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มาก คาดจะสูงช่วง ธ.ค. - มี.ค. ชี้ใน กทม.ปีญหายังมาจากรถยนต์ส่วนตัว มองผู้ว่าฯ ยังเกาไม่ถูกที่คัน หนุน Work From Home
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ป่วยจากฝุ่น PM 2.5 ว่า ขณะนี้ยังถือว่าไม่รุนแรง เพราะยังมาๆ ไปๆ ยังไม่อยู่แช่นาน ประกอบกับยังพอจะมีฝนบ้างในช่วงนี้ จึงมีการคาดว่าปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 จะเริ่มมากขึ้นในช่วง ธ.ค. 2566 – มี.ค. 2567 ทั้งนี้ แม้สถานการณ์ฝุ่นยังไม่มาก แต่ก็เริ่มพบผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจมากขึ้นบ้าง เช่น อาการภูมิแพ้กำเริบ โรคผิวหนัง โรคหอบหืด โรคเกี่ยวกับโพรงจมูกกำเริบ แต่ยังเป็นช่วงสั้นๆ ฉะนั้นตอนนี้ยังไม่ใช่จุดที่เป็นปัญหามาก แต่เพิ่งจะเริ่มขึ้น กลุ่มที่น่าเป็นห่วงยังคงเป็นกลุ่มเดิมคือ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง
“พออากาศหนาวเริ่มนิ่ง จนถึง มี.ค. 2567 ปัญหาฝุ่นจะมาก เนื่องด้วยสภาวะเอลนีโญ ทำให้อากาศร้อนและนิ่ง ซึ่งอาจทำให้ปัญหาฝุ่นของปีนี้เท่าเดิมหรือมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะใน กทม. ที่พบฝุ่นสูงในหลายเขต เช่น ปทุมวัน ดินแดง บางขุนเทียน บางพลัด ตลิ่งชัน พระราม 2 เป็นต้น สาเหตุของฝุ่นใน กทม. 70% มาจากมลพิษไอเสียเครื่องยนต์และเชื้อเพลิง จะมีมาจากการก่อสร้างเป็นส่วนน้อย” รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าว
เมื่อถามถึงการรับมือปัญหาฝุ่นของ กทม. รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่า มาตรการจากผู้ว่าฯ กทม. เกาไม่ถูกที่คัน เช่น จำกัดพื้นที่การวิ่งของ บขส.จากต่างจังหวัด ที่ไม่ให้วิ่งเข้า กทม. การตรวจจับฝุ่นควันจากรถบรรทุก ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนน้อยของการเกิดปัญหาฝุ่น เพราะปัญหาหลักของฝุ่นในกทม. คือ คนส่วนใหญ่ใช้รถยนต์ส่วนตัว
ถามต่อว่ามาตรการที่ควรนำมาใช้ในพื้นที่ กทม. ควรเป็นอย่างไร รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าวว่า ต้องใช้มาตรการ Work from home จำกัดพื้นที่รถเข้าออกในบางช่วงเวลา เหมือนในต่างประเทศ ตราบใดที่เรายังไม่สามารถเปลี่ยนเครื่องยนต์มาเป็นรถไฟฟ้าได้มากพอ เราก็ต้องหามาตรการอื่นมารองรับ
ถามว่า รพ.ศิริราชเตรียมรับมือผู้ป่วยจากภัยฝุ่นอย่างไร รศ.นพ.นิธิพัฒน์กล่าวว่า รพ.ทั่วไปใน กทม. จะมีคลินิกโรคจากมลพิษ เช่น รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.ราชวิถี รพ.ในเครือของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ กทม. และรพ.ในสังกัดของ กทม.เอง ส่วน รพ.ใหญ่ๆ จะเป็นการรักษาโรคตามอาการที่พบ เช่น การรักษาโรคภูมิแพ้ โรคหูตาคอจมูก คำแนะนำสำหรับประชาชนในช่วงที่มีฝุ่นมาก สิ่งสำคัญคือตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ ใช้ชีวิตให้เหมาะสม เช่น หากออกกลางแจ้งในช่วงอากาศไม่ดีมากๆ ก็อาจใช้หน้ากากอนามัยชนิด N95 ใส่เสื้อที่ปกคลุมผิวหนังได้ดี ส่วนเด็กๆ เป็นเรื่องที่ยาก เพราะเด็กไม่ชอบสวมหน้ากากอนามัย จึงต้องมีมาตรการปกป้องอื่นๆ เช่น ห้องปลอดฝุ่นในโรงเรียนให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่สะอาด