xs
xsm
sm
md
lg

เกือบไปแล้ว! อย่าประมาท “ลมแดด” ช่วยไม่ทันถึงตาย / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

วันนี้ก๊วนของเราเห็นพ้องกันว่าควรใช้รถ เพราะอากาศที่ร้อนอบอ้าว แดดแรง และไม่มีลมช่วยระบายความร้อนเลย ขนาดเบาะรถนั่งแล้วก้นยังร้อนจนสะดุ้ง “ไข่ผมสุกแล้วครับ” เจ้าเก่งพยายามเปลี่ยนบรรยากาศให้คลายร้อนอย่างไร้ผล

วันนี้เราจบเกมเมื่อตีไปได้เพียง 5 หลุมก็ต้องวกรถกลับมาคลับเฮ้าส์อย่างด่วน เพราะเฮียชู สว.วัย 72 ออกอาการมึน เวียนหัว เดินเซ จนน้องมายด์และเจ้าอ้วนต้องรีบเข้าประคองมาส่งที่รถ “กูยังไหว!” คุณชูสง่าพูดเสียงแหบเครืออย่างไว้เชิง แต่พี่หมอรีบเปิดขวดน้ำรดเหมือนสงกรานต์ พลางสั่งให้เจ้าเก่งขับรถกลับคลับเฮ้าส์ด่วน

สภาวะอากาศร้อนอบอ้าวในปัจจุบันสามารถทำให้เกิด Heat Stroke หรือภาวะลมแดดได้เลย เกิดจากการที่อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป คือ สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าเป็นภาวะที่เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ โดยมีผลทำให้การทำงานของอวัยวะในร่างกายผิดปกติ ได้แก่ ภาวะสมองบวม ปอดอักเสบรุนแรง (โดยไม่ใช่อักเสบจากการติดเชื้อ) การไหลเวียนเลือดและหัวใจล้มเหลว ตับวาย ไตวาย การแข็งตัวของเลือดผิดปกติและเซลล์กล้ามเนื้อถูกทำลาย

Heat Stroke แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ แบบ Classical ซึ่งใช้เวลา 2-3 วัน มักเกิดในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่นอนติดเตียง ไม่สามารถดื่มน้ำได้ทันกับอากาศที่ร้อนจัดและแบบ Exertional มักเกิดในคนที่ต้องออกแรงมากๆท่ามกลางสภาพอากาศร้อน เช่น นักกีฬากลางแจ้ง การฝึกทหาร คนที่ต้องทำงานกลางแดด โดยที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

อาการของผู้ป่วย ได้แก่ ภาวะสับสนวุ่นวาย ชัก หมดสติ หายใจเร็ว หอบ เหงื่อออกมาก ชีพจรเต้นเร็ว ความดันต่ำและช็อก อาจมีอาเจียน ท้องเสียร่วมด้วย ซึ่งถ้าหากได้รับการช่วยเหลือช้า ผู้ป่วยอาจเสียชีวิต

การช่วยเหลือเบื้องต้น เมื่อพบผู้ป่วย Heat Stroke ต้องรีบนำผู้ป่วยออกจากสภาพอากาศที่ร้อนไปอยู่ในที่เย็นขึ้น โทร.1669 เรียกรถพยาบาลด่วน ถอดเสื้อผ้าให้มากที่สุด เพื่อให้ผิวหนังระบายความร้อนได้ ใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามข้อพบ ซอกคอ เพื่อลดอุณหภูมิ (ห้ามนำผู้ป่วยไปแช่ในอ่างน้ำแข็ง) หากผู้ป่วยยังพอรู้ตัวให้ดื่มน้ำให้มากที่สุด (1-2ลิตร ใน 1ชั่วโมง) หากผู้ป่วยหมดสติต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ซึ่งต้องรอให้รถพยาบาลมาถึงและห้ามให้ทานยาลดไข้พวก Aspirin หรือ Acetaminophen (พาราเซตามอล) หากผู้ป่วยหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้ทำ CPR ปั๊มหัวใจ (ถ้าทำเป็น) หากทำไม่เป็นให้ตะโกนขอความช่วยเหลือหาคนที่ทำ CPR เป็นให้เร็วที่สุด หากช้าอาจเสียชีวิตหรือฟื้นขึ้นมาช้า สมองพิการได้
ถ้าผู้ป่วยตัวเย็นลง เริ่มมีสติและพูดรู้เรื่อง ให้จิบน้ำช้าๆอย่ากรอกน้ำใส่ปากขณะหมดสติ ถ้าไม่มีสติ ไม่ต้องให้ดื่มน้ำ เพราะจะสำลักเข้าปอดอันตรายมาก

ดังนั้นหน้าร้อนนี้ ให้พกขวดน้ำติดตัว อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ อย่ารอให้คอแห้งหรือรู้สึกหิวน้ำ เริ่มมึนหัวเวียนหัวร้อนแบบไม่มีเหงื่อ เพราะนั่นอาจสายไปแล้ว ถ้าร่างกายร้อนจัด อาจช็อก ระบบภายในจะล้มเหลว ตับถูกทำลาย ไตวาย หัวใจหยุดเต้น อันตรายกว่าที่คิด ดังนั้นถ้าเริ่มมึนๆตึงๆให้รีบหาน้ำดื่ม ลดอุณหภูมิร่างกายทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น