หมอเผย 3 เกณฑ์วินิจฉัยป่วย "โรคฮีทสโตรก" แจงตายจากโรคลมแดดอย่างเดียวเกิดขึ้นได้น้อย ส่วนใหญ่มีร่วมโรค เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ย้ำอาการไม่ค่อยเป็นค่อยไป เผยวิธีป้องกันสำหรับผู้สูงอายุ
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปกติร่างกายมีการเผาผลาญอาหารและสร้างความร้อนจากภายในตัวตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีการระบายความร้อนออกจากร่างกาย เช่น ทางลมหายใจ ทางปัสสาวะ ทางผิวหนังร่วมกับต่อมเหงื่อ เมื่ออยู่บริเวณที่มีอากาศร้อนจัดร่างกายจะระบายความร้อนได้ยาก ทำให้เสียเหงื่อมากขึ้นและร่างกายขาดน้ำมากขึ้น หากไม่ได้รับน้ำทดแทนที่เพียงพอจะเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง อาจเกิดอาการช็อก เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
นพ.ณัฐพล สุทธิสุนทรินทร์ รอง ผอ.สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวว่า เกณฑ์การวินิจฉัยอาการป่วยจากโรคลมแดด (Heatstroke) คือ 1.ร่างกายมีอุณหภูมิสูง ตั้งแต่ 40.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป 2.มีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น ภาวะสับสน เพ้อ เวียนศีรษะ ตอบสนองช้า หรือ ชัก และ 3.อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อน หรือ ออกกำลังกายหนัก ส่วนวิธีการป้องกันโรคลมแดดในผู้สูงอายุ มีดังนี้ 1.การหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่จะทำให้ร่างกายมีความร้อนสูง 2. ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี 3. อยู่ในสถานที่ที่มีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ 4. อาบน้ำเย็นบ่อยๆ 5.ดื่มน้ำให้เพียงพอ และ 6.ลดการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ญาติหรือผู้ดูแล ควรติดตามอาการของผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ต้องทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงอย่างรวดเร็วที่สุด โดยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าที่ร่ม จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออก แล้วใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง ประคบตามข้อพับ รักแร้ ขาหนีบ ใช้พัดลมพัดเพื่อระบายความร้อน และรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยทันที
ด้าน นพ.ธนบูรณ์ วรกิจธำรงค์ชัย นายแพทย์ชำนาญพิเศษ อายุกรรมสมอง สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า ฮีทสโตรกเป็นภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่เฉลี่ย 40 องศาเซลเซียส ซึ่งจะมีผลทำให้ทั้งพฤติกรรมของร่างกายเปลี่ยนไป ร่างกายอ่อนแอ เกิดภาวะหมดสติ มีสัมปชัญญะลดลง หรือภาวะล้มเหลวของระบบทางเดินหายใจ หรือมีอาการชักร่วม กลุ่มเสี่ยงพบได้ในผู้สูงอายุ เด็กเล็ก คนที่มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง คนที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนหรือคนที่ดื่มสุราจัด และ คนที่มีกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน ส่วนการเสียชีวิตจากภาวะฮีทสโตรกเพียงอย่างเดียวนั้นเกิดขึ้นน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นการเสียชีวิตที่มีปัจจัยร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น โรคหัวใจหรือภาวะความดันโลหิตสูง
นพ.ธนบูรณ์ กล่าวว่า อาการของฮีทสโตรกจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จะค่อยเป็นค่อยไป ใช้ระยะเวลาระยะหนึ่ง ร่างกายเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากนั้นจะส่งผลให้ระบบการทำงานของระบบประสาท เกิดความผิดปกติ เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำมาก เกิดภาวะตับวายไตวาย กล้ามเนื้อแตก โลหิตเป็นพิษ ส่วนใหญ่กลุ่มคนเหล่านี้มักพบคนที่มีกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานานและสูญเสียน้ำมาก ดังนั้น ทุกครั้งที่ออกไปเผชิญกับแสงแดดควรต้องดื่มน้ำให้มากโดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็ก สำหรับการป้องกันทำได้เพียงหลบเลี่ยงแสงแดดในเวลาที่ร้อนจัดตั้งแต่ 10.00-14.00 น. ควรอยู่ในที่ร่มดื่มน้ำสะอาด โดยเฉพาะน้ำเปล่าปริมาณมาก และควรสวมเสื้อผ้าที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี เพื่อระบายความร้อนในร่างกาย หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งควรสวมใส่หมวกปีกกว้างหรือกลางร่มเพื่อป้องกันแสงแดดและใช้ระยะเวลาทำกิจกรรมการแจ้งให้น้อยที่สุด หากต้องใช้แรงหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง งดการสวมใส่หน้ากากอนามัย เพราะจะทำให้การหายใจอาจไม่คล่องตัวมากเหมือนกับปกติ