xs
xsm
sm
md
lg

สะอึกนานๆ ไม่แค่น่ารำคาญ อาจเป็นการฟ้องโรค / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

เช้านี้พี่หมอพบภาพที่น่าประหลาดใจ เมื่อก้าวเข้ามาในห้องนั่งเล่นบ้านคุณชูสง่า สิ่งแรกคือใบหน้าอันบวมปูดของเจ้าเก่ง และเสียงสะอึก เอิ้ก...เอิ้ก จนตัวโยนของเฮียชู ยังไม่ทันจะถามว่าเกิดอะไรขึ้น? เจ้าเด็กอ้วนก็รีบฟ้อง “ผมเห็นเฮียสะอึกไม่หยุด ก็เลยจะทำให้หาย โดยย่องเข้าไปข้างหลังตอนเฮียเผลอ ตะโกนให้ตกใจสุดขีด จะได้ลืมสะอึก ที่ไหนได้ แกสะดุ้งหันมาฟาดเข้าหน้าผมเต็มๆเลยครับพี่” “เออสมน้ำหน้า...มีวิธีอื่นตั้งเยอะ เดี๋ยวพี่จะบอกให้...ว่าแต่เฮียสะอึกนานๆไม่ดีนะครับ...ต้องหาสาเหตุว่ามีอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า อย่านอนใจ

หลายคนคงมีประสบการณ์เกิดการสะอึกมาบ้างแล้ว รู้หรือไม่ว่าการสะอึกนั้นเป็นอาการที่เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อกระบังลมซึ่งอยู่ตรงรอยต่อระหว่างช่องปอดและช่องท้อง ซึ่งการหดตัวนี้เกิดขึ้นเองโดยไม่สามารถควบคุมได้ โดยจะเกิดการหายใจเอาอากาศเข้าไปก่อน และจะหยุดหายใจเข้านั้นอย่างทันทีทันใด จึงทำให้เกิดเสียงดังจากการสะอึกเกิดขึ้น ซึ่งปกติการสะอึกจะหายไปในไม่กี่นาที แต่ถ้าหากสะอึกอยู่นานๆ เป็นครึ่งค่อนชั่วโมงหรือเป็นวันๆ อาจจะต้องหาสาเหตุว่ามาจากโรคอะไร เช่น โรคเกี่ยวกับอวัยวะในช่องท้อง ในช่องปอด หรือจากระบบสมองและประสาทส่วนกลาง เป็นต้น โยเฉพาะอย่างยิ่งการสะอึกในขณะนอนหลับ

สาเหตุของการสะอึก

-ผิดปกติที่ระบบประสาทที่ควบคุมกระบังลม
-การขยายตัวของกระเพาะอาหารมากเกินไป
-การดื่มแอลกอฮอล์มากๆ
-ปัจจัยด้านจิตใจ

นอกจากนี้ยังอาจมีสาเหตุความผิดปกติในบริเวณคอและหน้าอก เช่น เนื้องอก ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น หรืออาจเกิดจากโรคในช่องท้อง เช่น ไตวาย หรือหลังผ่าตัดช่องท้องบางครั้งอาจเกิดจากสาเหตุด้านอารมณ์ ความเครียดเรื้อรัง หรือยาบางชนิดและแอลกอฮอล์

เทคนิคการทำให้หยุดสะอึก

-ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้จับลิ้นแล้วดึงออกมาข้างหน้าแรงๆ เพื่อช่วยให้เปิดหลอดลมที่ปิดอยู่ กระตุ้นผิวด้านหลังของลำคอ และบริเวณที่เปิด-ปิดหลอดลม
-กลั้นหายใจเอาไว้โดยการนับ 1-10 แล้วหายใจออก จากนั้นดื่มน้ำตามทันที หรือหายใจในถุงกระดาษครอบไว้ 3-5นาที
-กลั้วน้ำในลำคอ จิบน้ำเย็นจัดช้าๆตลอดเวลาติดๆกันไปเรื่อยๆจนกว่าอาการสะอึกจะหาย
-ทำให้จาม
-กลืนน้ำตาลทราย1-2ช้อนโต๊ะ โดยไม่ต้องใช้น้ำ หรือกลืนก้อนข้าว ก้อนขนมปัง ก้อนน้ำแข็งเล็กๆ
-ทำให้เกิดอารมณ์รุนแรง เช่น โกรธ ตกใจกลัว หรือทำให้ตื่นเต้น
-ดมกลิ่นฉุนของแอมโมเนีย หรือน้ำส้มสายชูที่เปรี้ยวจัด
-ถ้าเป็นเด็กอ่อน ควรอุ้มพาดบ่า ใช้มือลูบหลังเบาๆให้เรอ

ทั้งนี้หากมีอาการเรื้อรังหรือผิดปกติ ควรรีบไปให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป เพราะอาจจะไม่ใช่แค่การสะอึกธรรมดา


กำลังโหลดความคิดเห็น