คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
รถหรูคู่ใจของคุณชูสง่า แล่นเข้าลานบ้านหลังกลับจากการไปเยี่ยมบ้านอาซ้อที่ชัยภูมิในช่วงปีใหม่ ผู้ดูแลบ้านรีบวิ่งเข้าไปเปิดประตูรถเพื่อต้อนรับนายเหมือนเช่นเคย แต่คราวนี้ผู้ที่ลงจากรถคือเจ้าเก่ง
“อ้าว! เฮียขับเองเหรอครับวันนี้” พี่หมอถามอย่างงงๆ
“ใช่ เฮียไม่ไว้ใจไออ้วนมันฉลองปีใหม่จนดึกขับรถตาปรือกลัวมันวูบหลับใน
สิ้นสุดเทศกาลฉลองปีใหม่ที่เพิ่งผ่านไป หลายคนเดินทางกลับแต่ไม่ถึงบ้าน ซึ่งเราจะเห็นจากรายงานข่าวว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต นอกจากการขับรถเร็ว เมาแล้วขับแล้ว “ภาวะหลับใน” ก็เป็นสาเหตุอันดับต้นๆเลยทีเดียว ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดจากการนอนไม่พอจากการเที่ยวและสังสรรค์ ส่งผลให้ต้องฝืนขับรถเป็นระยะทางไกล ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลับใน
ภาวะหลับในหรือการหลับในระยะสั้นๆเกิดจากความง่วงซึ่งจู่โจมเข้ามาอย่างกะทันหัน(Sleep Attake)
ทำให้เกิดหลับค้างกลางอากาศซึ่งเป็นผลของการนอนที่ไม่มีคุณภาพ เป็นปรากฏการณ์ของความสับสนระหว่างการหลับและการตื่น โดยการหลับเข้ามาแทรก การตื่นอย่างเฉียบพลันโดยไม่ทันรู้ตัวในช่วงเวลาสั้นๆประมาณ 2-3 วินาทีเท่านั้น ซึ่งมีสาเหตุมาจาก
-การอดนอน การนอนน้อย หรือ นอนไม่พอ เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลับใน เพราะสมองส่วนที่เรียก ธาลามัส อาจหยุดทำงานในช่วงสั้นๆชั่วคราว ส่งผลให้เกิดความง่วงกะทันหันงีบหลับไม่รู้ตัว
-นอนไม่เป็นเวลา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย นอนไม่เต็มอิ่ม เช่น เข้านอนตอนตี 4 ตื่นนอนเที่ยงวัน คุณภาพการนอนไม่ดีเมื่อเทียบกับ เข้านอนตอน 4 ทุ่ม ตื่นนอน 6 โมงเช้า เป็นต้น ส่งผลให้งง และเกิดความเสื่อม เพราะปกติสมองจะจำเวลานอนและจะเกิดความง่วงในเวลานั้น ถ้าเปลี่ยนเวลาเข้านอนบ่อยๆจะทำให้เวลานอนไม่ง่วง นอนได้น้อยลง หลับไม่เต็มอิ่ม
-กรรมพันธุ์ จะส่งผล 2 แบบ คือ บางคนจะอยู่ในกลุ่มนอนยาว (Long Sleepers) คนพวกนี้จะมีความต้องการนอนนานถึง 10 ชั่วโมง จึงจะสดชื่น หรือบางคนจะอยู่ในกลุ่มนอนระยะสั้นเพียง 4-5 ชั่วโมง ก็ตื่นมาได้อย่างสดชื่นแต่พบได้จำนวนน้อยมาก
• สัญญาณเตือนเมื่อง่วงมากผิดปกติ ไม่ควรขับรถโดยเด็ดขาด มีดังนี้
- ตื่นตอนเช้า ไม่สดชื่น งัวเงียอยากนอนต่อ
- ง่วงเหงาหาวนอนบ่อยๆ ต่อเนื่องระหว่างวัน
- มึนศีรษะ มองภาพไม่ชัดเจน ตาปรือ รู้สึกลืมตาไม่ขึ้น ไม่สนใจไฟสัญญาณจราจร
- ขาดสมาธิ โดยเฉพาะไม่สามารถควบคุมเส้นทางการขับขี่ได้
- เผลอหลับแบบไม่รู้ตัว อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
• เทคนิคกันวูบหลับขณะขับ
- พักทุกๆ 2 ชั่วโมง หรือผลัดกันขับถ้าไปหลายคน
- งีบ พักประมาณ 5-45 นาที แต่ต้องเลือกสถานที่จอดรถที่ปลอดภัย
- ระวังเรื่องยาที่ทำให้ง่วงและงดดื่มแอลกอฮอล์
- เลือกขับในช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืนหรือโพ้เพล้
ขอให้ขับปลอดภัย ขับถึงบ้าน ในปีกระต่ายทอง กันทุกคนนะครับ