คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“คิดถึงโปรนพ” คุณชูสง่าหวลคิดถึงเพื่อนสนิทเมื่อเห็นน้องพรแคดดี้คู่ใจของเพื่อนนพขับรถกอล์ฟพานายใหม่ออกรอบผ่านหน้าไป มานพเพื่อนเฮียป่วยเป็นมะเร็ง เพิ่งจากไปเร็วๆนี้ แกเป็นคนชอบดื่มกาแฟตั้งแต่เช้ายันค่ำไม่ต่ำกว่า 10 แก้ว จนใครๆก็คิดว่ากาแฟเป็นสาเหตุให้แกเป็นมะเร็งตาย เจ้าเก่งจอมตีไกลลูกก๊วกก็เชื่อตามนั้น เป็นเหตุให้มันลดกาแฟลงเหลือวันละ 3 แก้วหลังอาหาร “แล้วมันจริงรึเปล่า? พี่หมอ กาแฟทำให้เป็นมะเร็งจริงเหรอ?” “เอ้า..!! สงสัยก็ไปฟังอาจารย์หมอสหภูมิ ศรีสุมะ ท่านจะบอกให้” พี่หมอสรุป...
คอกาแฟต้องรู้ ดื่มกาแฟมากๆ เสี่ยงมะเร็งมากขึ้นจริงหรือ? เรื่องนี้ ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า ความเชื่อที่ว่าการดื่มกาแฟทำให้เป็นมะเร็งนั้นมาจากการที่กาแฟมีสารที่ชื่อว่า “อะครีลาไมด์ (Acrylamide)” ซึ่งเป็นสารที่สัมพันธ์กับโรคมะเร็ง หากร่างกายได้รับสารดังกล่าวเกินปริมาณที่กำหนดไว้ จะมีความเสี่ยงและทำให้เป็นมะเร็งได้
1.สารก่อมะเร็งในกาแฟ
อะครีลาไมด์ (Acrylamide) สามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีการนำมาผ่านความร้อนสูง เช่น ขนมอบกรอบที่ต้องผ่านการทอดด้วยความร้อนสูง เป็นต้น กาแฟอาจเกิดสารอะครีลาไมด์ (Acrylamide) ได้จากขั้นตอนการคั่วกาแฟ รวมทั้งขั้นตอนการทำกาแฟสำเร็จรูป ซึ่งทำให้เกิดสารนี้ได้อีกครั้งหนึ่ง
2.กาแฟมีสารก่อมะเร็ง อะครีลาไมด์ (Acrylamide) มากเท่าไร?
จากการศึกษาของประเทศโปแลนด์ พบว่า ในกาแฟคั่วบด หรือกาแฟสด 160 ซีซี (ประมาณ 1 แก้ว) มีสารอะครีลาไมด์ (Acrylamide) 0.15 – 1 ไมโครกรัม แสดงว่า หากคนที่มีน้ำหนักตัว 40 กิโลกรัม จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งจากการดื่มกาแฟได้ ต้องได้รับสารอะครีลาไมด์ (Acrylamide) เกิน 40 x 2.6 = 104 ไมโครกรัม ในกาแฟ 1 แก้ว มีสารอะครีลาไมด์ (Acrylamide) 0.15 – 1 ไมโครกรัม แปลว่าในคนที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม จะต้องบริโภคกาแฟมากกว่า 104 แก้ว จึงจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง แสดงให้เห็นว่า การดื่มกาแฟในปริมาณปกตินั้น ไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม กาแฟมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันมะเร็ง และโรคเส้นเลือดอุดตัน เคยมีการศึกษาพบว่า ในคนที่บริโภคกาแฟดำ 2 แก้วขึ้นไปมีอัตราการเกิดมะเร็งน้อยกว่าประชาชนทั่วไป แต่การดื่มกาแฟให้ได้ประโยชน์ คือการดื่มกาแฟดำเท่านั้น การดื่มการแฟที่ใส่ครีมหรือน้ำตาลมาก ควรระมัดระวังภาวะอ้วน ไขมันในเลือดสูง และน้ำตาลสูง
3.อันตรายจากการดื่มกาแฟ
แม้ว่าปริมาณสารอะครีลาไมด์ (Acrylamide) ในกาแฟจะไม่ได้มากพอที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ แต่อันตรายของกาแฟมาจากคาเฟอีน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อบางคนที่ดื่มได้ เช่น ทำให้ชีพจรเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้นเล็กน้อย จึงไม่เหมาะกับคนที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมโรคได้ไม่ดี รวมทั้งกาแฟมีความเป็นกรดพอสมควร จึงทำให้เกิดการระคายเคืองที่กระเพาะอาหาร จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยกรดไหลย้อน เพราะจะกระตุ้นให้โรคมีอาการรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ ฤทธิ์ของคาเฟอีน ที่ทำให้ตื่นตัว หากได้รับ ผิดเวลาจะทำให้นอนไม่หลับ ข้อแนะนำคือ ควรได้รับในช่วงครึ่งเช้าของวัน หรือพยายามอย่าให้เกิน 16.00 น.