คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
"หมู่นี้ไม่เจอโปรอรเลย" คุณชูสง่าเปรยขึ้นหลังจากละสายตาจากนักกอล์ฟหญิงบิ๊กคัพลักษณะคล้ายโปรอร
"เพื่อนเฮียที่หายหน้าหายตาไปได้ข่าวว่าไปผ่าตัดมะเร็งเต้านมครับ" เจ้าเก่งผู้สื่อข่าวประจำก๊วนรายงานตามที่ได้ยินมา
"เป็นมะเร็งหรือเปล่าไม่รู้ระยะนี้เฮียได้ข่าวคนรู้จักเป็นมะเร็งเต้านมกันเยอะเลย"
"ใช่ครับเฮีย" พี่หมอรับคำแล้วขยายต่อ "มะเร็งหมายเลข 1 ของผู้หญิงเลยครับบในเมืองไทยพบวันละ 49 คนและเสียชีวิตวันละ 13 คนเลยทีเดียว"
"โอ้โห" เจ้าเก่งตกใจในสถิติ "ดีว่าผมเป็นผู้ชายรอดตัวไป"
"เอ็งแน่ใจหรือไอ้อ้วนผู้ชายก็มีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมได้ 1 ใน 100 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดนะ"
เจ้าเก่งทำสีหน้ารับยากขึ้นมาทันที
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกรายงานว่าปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลกประมาณ 2-3 ล้านคนต่อปีเสียชีวิตราว 685,000 คนต่อปีสำหรับประเทศไทยมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทยจากข้อมูลในปี พ.ศ.2563 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 18,000 คนต่อปีหรือคิดเป็น 49 คนต่อวันและเสียชีวิตราว 4,800 คนหรือ 13 คนต่อวัน ซึ่งมีแนวโน้มว่าอัตราการเกิดโรคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคาดว่าในปี พ.ศ.2566 จะพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ราว 22,000 คนต่อปี สำหรับสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้มากขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย และดื่มสุรา รวมถึงบางปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมและอายุมากขึ้น เป็นต้น
พญ.ชญานุตม์ รัตตดิลก ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมเต้านมสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่ามะเร็งเต้านมเกิดจากเนื้อเยื่อที่มีความผิดปกติส่วนใดส่วนหนึ่งภายในเต้านมแล้วเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งอาจลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียงและแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ โดยผู้หญิงอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปหรือกลุ่มที่มีประวัติครอบครัวมีคนที่เป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ทั้งนี้ในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการและมักมาพบแพทย์ด้วยการคลำพบก้อนเนื้อในเต้านมหรือบริเวณรักแร้ อาการอื่นๆ อาจสังเกตได้จากขนาดหรือรูปร่างเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เป็นแผลมีน้ำเหลืองหรือของเหลวสีแดงคล้ายเลือดไหลออกมาหรือเป็นผื่นบริเวณเต้านม
แม้ว่ามะเร็งเต้านมอาจจะเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน แต่ก็มีโอกาสรักษาหายขาดได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเราสามารถคัดกรองเต้านมด้วยตัวเองทุกเดือดเข้ารับการตรวจจากแพทย์เป็นครั้งคราวผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจอัลตราซาวนด์ร่วมกับเอกซเรย์เต้านมโดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม
- 7 สัญญาณมะเร็งเต้านม
1.มีก้อนที่เต้านมหรือรักแร้
2.รูปร่างหรือขนาดของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไป
3.มีน้ำผิดปกติไหลออกมาจากหัวนม
4.หัวนมบอดหรือมีแผลเรื้อรังที่เต้านม
5.มีรอยยุบหรือรอยย่นผื่นคันบริเวณลานเต้านม
6.มีอาการเจ็บผิดปกติที่เต้านมหรือรักแร้
7.ผิวหนังของเต้านมมีรอยบุ๋มหรือรอยย่นผิวหนังเปลี่ยนสภาพบวมหนาคล้ายผิวเปลือกส้ม