คอลัมน์ “ริงไซด์ ไฟต์คลับ” โดย “ลักษมณ์ นันทิวัชรินทร์”
หลังจากที่สภามวยโลก WBC ประกาศตั้งพิกัดน้ำหนักมวยโลกรุ่นใหม่ขึ้นมาเมื่อปลายปีที่แล้ว คือรุ่น “บริดเจอร์เวท” กำหนดให้มีพิกัดน้ำหนักตั้งแต่ 201 ปอนด์ จนถึง 224 ปอนด์ เพื่อรองรับนักมวยรุ่นเฮฟวี่เวทที่ตัวไม่ใหญ่นัก และเป็นรุ่นคั่นกลางของรุ่นครุยเซอร์เวท ที่พิกัดสูงสุดอยู่ที่ 200 ปอนด์ ก่อนจะขึ้นไปซดกับมวยรุ่นยักษ์ในรุ่นเฮฟวี่เวทที่ตอนนี้น้ำหนักมากและร่างกายสูงใหญ่ไปทุกที ในที่สุดรุ่น “บริดเจอร์เวท” ก็ได้แชมป์โลกคนแรกแล้ว จากศึกชิงแชมป์โลกที่ว่างอยู่นี้ที่ระเบิดขึ้นเมื่อค่ำวันศุกร์ ที่สังเวียนโอลิมเปีย เธียเตอร์ ในกรุงมอนทรีออล แคนาดา ตรงกับสายๆ วันเสาร์ที่ผ่านมาตามเวลาบ้านเรา
โดยแชมป์โลกคนใหม่รายนี้คือ ออสก้าร์ ริวาส นักชกโคลัมเบีย แต่ฝึกซ้อมอยู่ที่มอนทรีออล ถือเป็นเจ้าถิ่น แลกหมัดกับคู่ชกชาวแคนาดาแท้ๆ อย่างไรอัน โรซิคกี้ อย่างดุเดือดสนุกสนานตลอด 12 ยก ก่อนเอาชนะคะแนนไปอย่างเป็นเอกฉันท์ 116-111, 115-112 และ 115-112 โดยไฟต์นี้ออสก้าร์ ริวาส วัย 34 ปี ขึ้นชกด้วยน้ำหนัก 222 ¼ ปอนด์ ต่ำกว่าพิกัดรุ่น “บริดเจอร์เวท” นิดนึง ปกตินักชกรายนี้เป็นนักชกระดับกลางๆ ในรุ่นเฮฟวี่เวท อยู่ราวๆ อันดับที่ 11-20 น้ำหนักอยู่แถวๆ 230-240 ปอนด์ ตลอดการชกอาชีพก่อนหน้านี้เคยขึ้นชกด้วยน้ำหนักที่ต่ำกว่า 224 ปอนด์ครั้งเดียว เรียกว่างานนี้ลดน้ำหนักมาเพื่อชกรุ่นนี้แท้ๆ ส่วนคู่ชกอย่างไรอัน โรซิคกี้ เป็นนักมวยในรุ่นครุยเซอร์เวท ปล่อยน้ำหนักขึ้นมา และขึ้นชกไฟต์นี้ด้วยน้ำหนัก 203 ปอนด์
มวยโลกรุ่นใหม่นี้ถือว่า “เสียงแตก” อยู่พอสมควร มีสถาบัน WBC แห่งเดียวที่ตั้งขึ้นมา สถาบันอื่นๆ อย่าง WBA, IBF หรือ WBO รวมทั้ง “เดอะ ริง” ยังไม่เล่นด้วย เพราะมองว่าเป็นการเพิ่มรุ่นและเพิ่มจำนวนแชมป์โลกอย่างไม่จำเป็น ยอดมวยยูเครน โอเล็กซานเดอร์ อูซิก ราชารุ่นครุยเซอร์เวท ที่ข้ามรุ่นขึ้นมาเป็นแชมป์โลก 3 สถาบันของรุ่นเฮฟวี่เวทตอนนี้ ก็ล้ม “เอเจ” แอนโธนี่ โจชัว นักชกอังกฤษ ด้วยน้ำหนัก 221 ¼ ปอนด์เท่านั้น เบากว่าออสก้าร์ ริวาส ที่ขึ้นคว้าแชมป์โลกรุ่นบริดเจอร์เวทนี้ซะอีก วันนั้น “เอเจ” ก็หนักถึง 240 ปอนด์ อูซิกก็เอาชนะได้ ถ้าย้อนอดีตไปในปี 2009 นักชกอังกฤษ เดวิด เฮย์ ขึ้นชิงแชมป์โลกในรุ่นเฮฟวี่เวทด้วยน้ำหนักเพียง 217 ปอนด์ เจอกับนิโคไล วาลูเยฟ นักชกรัสเซีย ที่สูงถึง 7 ฟุต หนักถึง 316 ปอนด์ คือหนักกว่าถึง 99 ปอนด์ เฮย์ ซึ่งปล่อยน้ำหนักขึ้นมาจากรุ่นครุยเซอร์เวท ก็เอาชนะได้ แถมทิ่มจนยักษ์รัสเซียเอียงไปเหมือนกัน
ดังนั้นจะบอกว่าสร้างรุ่นพิกัดน้ำหนักนี้มา เพื่อลดความเสียเปรียบของมวยรุ่นยักษ์ตัวเล็ก ก็ไม่สมเหตุผลเท่าไหร่ ว่ากันจริงๆ ก็สร้างมาฟันเงินค่าแซงก์ชั่น ฟี ค่าธรรมเนียมจัดการชกต่างๆ นั่นแหละ ตอนนี้แชมป์โลกก็จะเดินชนกันตายจนกลายเป็น “แชมป์โหล” อยู่แล้ว จากจำนวนพิกัดน้ำหนักที่มีอยู่ถึง 17 รุ่น มีแชมป์รุ่นละหลายๆ คน ของ WBC สถาบันเดียวมีแชมป์โลกในรุ่นเดียวถึง 3 คน รุ่นบริดเจอร์เวทนี้ถือเป็นรุ่นที่ 18 ก็ต้องดูกันต่อไปว่ามวยรุ่นนี้จะ “ได้เกิด” หรือจะหายไปจากสารบบในอนาคต