คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“สุดเศร้า! นักวิ่งมาราธอน เสียชีวิตขณะวิ่ง 3 รายรวดในวันเดียว หนึ่งในนั้นเป็นหมอวัย 59 ปี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค” ข่าวหน้าหนึ่งที่ทำเอาผู้คนหวาดผวากันไปทั้งวงการ พี่หมอเราก็พลอยเวียนหัวไปกับคำถามซ้ำๆ ที่ระดมเข้ามามากมาย อันตรายถึงตายเลยหรอ ตายเพราะอะไร ต้องไปตรวจโรคก่อนวิ่งไหม จะป้องกันอย่างไร พี่หมอเลยต้องไป update ข้อมูลเชิงลึกได้จาก “1412 cardiology” เพื่อมาตอบคำถามเหล่านี้
ปัจจุบันบ้านเราตื่นตัวอย่างมากในเรื่องการวิ่งมาราธอน คำถามที่ตามมาคือ อันตรายแค่ไหน เรามาดูข้อมูลจริงๆในเชิงลึกเพื่อตอบคำถามเหล่านี้กันครับ
1.วิ่งมาราธอน ทำให้เสียชีวิตได้จริงหรือ?
-จริงครับ การวิ่งมาราธอนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้จริง แต่โอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก
2.น้อยมากที่ว่านี่คือเท่าไหร่
-ตามข้อมูลที่มีการเก็บบันทึกเชื่อถือได้ ตลอด 30 ปีกว่าที่ผ่านมา อัตราการเสียชีวิตจากการวิ่งมาราธอนอยู่ที่ 1:5,000 ถึง 1:220,000 แต่ถ้านับรวมนักวิ่งที่ล้มคว่ำลงไปและกู้ชีวิตได้สำเร็จเข้าไปด้วย อัตราจะมากขึ้นมาอยู่ที่ 1:31,000 ถึง 1:5,500
3.ข้อมูลที่ว่านี้เอามาจากการแข่งขันมาราธอนรายการอะไร? (ไม่อยากจะเชื่อ)
-มาจาก 29 รายการในสหรัฐและยุโรป ได้แก่ (1)Marine Corps Marathon ตั้งแต่ปี 1976-2004 (2)Twin Cities Marathon ตั้งแต่ปี 1981-2006 (3) London Marathon ตั้งแต่ปี 1981-2006 (4)ฐานข้อมูลรวมจาก 26 รายการมาราธอนในสหรัฐตั้งแต่ปี 1975-2004 นักวิ่งที่ลงทะเบียนทั้งหมดรวมกันประมาณ 4 ล้านคน มีนักวิ่งที่เสียชีวิตทั้งหมด 48 คน
4.เสียชีวิตจากอะไร?
-ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน 39 จาก 48 คน (81%) รองลงมาพบว่าเกิดจากสมดุลเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ เป็นเหตุให้หัวใจหยุดทำงานฉับพลัน 4 คน (8.33%) มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ 3 คน (6.25%) หลอดเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด 3 คน (6.25%) และเสียชีวิตจาก Heat Stoke 1 คน (2%)
5.มักจะเกิดเรื่องที่ระยะไหน?
-การศึกษาใน 26 รายการมาราธอนในสหรัฐปี 2007 จะพบว่า ส่วนใหญ่นักวิ่งจะเกิดเสียชีวิตในช่วงไมล์สุดท้ายก่อนเข้าเส้น
6.นักวิ่งที่เสียชีวิตคือนักวิ่งที่ซ้อมไม่ถึง?
-ไม่จริง น่าสนใจมากที่คนเสียชีวิตเกือบทั้งหมดผ่านการวิ่งมาราธอนมาก่อนแล้วสมารถแตะเส้น 42.195 กม.ได้ สุภาพร่างกายค่อนข้างดี แต่กลุ่มหนึ่งก็มีโรคหัวใจและปัจจัยเสี่ยง
7.ต้องตรวจอะไรกับแพทย์บ้างก่อนวิ่งมาราธอน?
-จริงๆแล้วสมาคมแพทย์โรคหัวใจในสหรัฐและยุโรปยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสนับสนุนให้ตรวจหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน ทำอัลตราซาวด์ ตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหัวใจ ในคนที่แข็งแรงดี ไม่มีอาการ ไม่มีโรคประจำตัวใดๆทุกราย แต่แนะนำให้พิจารณาตรวจในผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคหัวใจและผู้ป่วยที่มีความเสียงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน แต่น้ำหนักของคำแนะนำก็ไม่แข็งแรงนัก เนื่องจากการเสียชีวิตจากการอุดตันเฉียบพลันของหลอดเลือดก็ไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของการตีบของหลอดเลือดที่ได้จากการตรวจ
8.การป้องกันอย่างไร?
-ทางที่ดีที่สุดในการช่วยชีวิตไม่ใช่การตรวจคัดกรอง เนื่องจากการเกิดเหตุ พยากรณ์แทบไม่ได้เลย แต่ที่สำคัญคือ การเตรียมความพร้อมในการกู้ชีพบนสนามแข่ง นั่นก็คือ เครื่องมือ AED และทีมกู้ชีพที่ฝึกฝนมาดีแล้ว
9.อันตรายจากการวิ่งมาราธอนที่ไม่เกี่ยวกับการเสียชีวิต?
-มีมากมาย เช่น อาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อ โดยนักวิ่งที่ซ้อมมาไม่ดีมีโอกาสเกิดมากกว่า
สรุป การวิ่งมาราธอนทำให้เสียชีวิตได้จริง แต่อัตราการเกิดค่อนข้างน้อย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันฉับพลัน ความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากขึ้นในนักวิ่งที่อายุมาก และมีโรคหัวใจเดิม หรือโรคประจำตัวอื่นๆ การคัดกรองโดยการตรวจหัวใจ แนะนำในนักวิ่งที่มีความเสี่ยงข้างต้น การป้องกันการเสียชีวิตที่ดีที่สุดในการวิ่งมาราธอนคือ การมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า AED (Automated External Defibrillator) และทีมกู้ชีพที่ผู้จัดต้องให้ความสำคัญสูงสุด เพราะแม้มีโอกาสเกิดเหตุไม่มาก แต่ถ้าเกิดแล้วไม่สามารถช่วยชีวิตได้จะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่สุด