โลกของการแข่งขันกีฬา ไม่มีเส้นแบ่งแยกระหว่างมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นใคร ชาย หญิง เพศที่สาม คนที่มีอวัยวะครบ 32 หรือผู้ป่วย ผู้พิการ ก็สามารถลงแข่งขันกีฬาทุกอย่างบนโลกได้หากมี “จิตใจ” มุ่งมั่นในความสำเร็จ เหมือนกับที่หนุ่มผู้ป่วย ดาวน์ซิมโดรม ที่ก้าวข้ามขีดจำกัดตัวเองจนถูกบันทึกให้เป็นนักกีฬาดาวน์ซินโดรมคนแรกของโลกที่สามารถจบการแข่งขัน “ไอรอนแมน” ครั้งล่าสุดลงได้
การแข่งขันไตรกีฬาคนเหล็ก “ไอรอนแมน” หนล่าสุดที่ ฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา วันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา คริส นิกิช นักกีฬาหนุ่มเจ้าถิ่น สวมชุดลงประชันกับผู้เข้าแข่งขันมากมาย กระนั้นสิ่งที่เจ้าตัวไม่เหมือนคนอื่นคือ นิกิช เป็นผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม ทว่าด้วยการเตรียมตัวและฝึกซ้อมมาเป็นอย่างดี ทำให้หนุ่มน้อยวัย 21 ปี เอาชนะทุกอุปสรรคและวิ่งจบการแข่งขันที่เวลา 16 ชั่วโมง 46 นาที 9 วินาที
ศึกไอรอนแมน ประกอบด้วยแข่งขันว่ายน้ำ 2.4 ไมล์ ต่อด้วยปั่นจักรยานอีก 112 ไมล์ ก่อนปิดจ๊อบด้วยวิ่งฟูลมาราธอนอีก 26.2 ไมล์ แน่นอนว่าขนาดผู้เข้าแข่งขันทั่วไปยังต้องฝึกกันเหนื่อยหอบกว่าจะแข่งจบ ขณะที่ คริส นิกิช ที่ป่วยเป็นดาวน์ซินโดรมตั้งแต่กำเนิด พัฒนาการช้ากว่าคนอื่น ยิ่งทำให้การฝึกซ้อมยากกว่าคนปกติหลายเท่า แต่หนุ่มน้อยจากฟลอริด้า ก็ขีดเขียนประวัติศาสตร์ให้แก่ตัวเองและรายการเมื่อเสร็จสิ้นการต่อสู้ที่ ปานามา ซิตี บีช
“นายได้ทำลายอุปสรรคด้วยการพิสูจน์ให้ทุกคนเห็น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทุกสิ่งนั้นเป็นไปได้ แรงบันดาลใจและความสำเร็จจากนายคือประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ของ ไอรอนแมน ที่จะไม่มีใครพรากมันไปได้ และคุณจะเอาเรื่องนี้ไปคุยกับใครก็ได้” ทีมงาน ไอรอนแมน โพสต์ข้อความยินดีต่อความสำเร็จของ คริส นิกิช
ย้อนกลับไป 3 เดือนก่อนหน้า จุดเริ่มต้นของการลงแข่ง ไอรอนแมน คือการผลักดันของ นิค คุณพ่อที่อยากให้ลูกชายมีสุขภาพที่ดีขึ้น เขารู้ดีว่าลูกชายป่วยเป็นดาวน์ซินโดรมแต่ก็ต้องการให้ลูกเติบโตไปมีอนาคตที่ดี มีงานทำ มีเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ และมีภรรยาเป็นสาวผมบลอนด์ตามที่เคยคุยกัน โดยเจ้าตัวเป็นคนกระตุ้นลูกชายว่า “ถ้าลงแข่งขันไอรอนแมนได้ ก็ไม่มีอะไรที่ลูกทำไม่ได้”
ภารกิจก่อนลงแข่งของ คริส นิกิช คือตื่นตั้งแต่ตี 5 อบอุ่นร่างกาย ก่อนออกไปซ้อมปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ และวิ่งในแถบบ้านพัก สลับเข้ายิม แบ่งกันอย่างละ 1 วันโดยมี แดน กรีบ ที่เคยผ่านสังเวียนไอรอนแมนมาแล้ว 16 ครั้ง เป็นติวเตอร์ช่วยดูการซ้อม ซ้อมวันละ 4-8 ชั่วโมง แน่นอนว่าช่วงเริ่มแรกนั้นไม่ง่ายเพราะ นิกิช ไม่เคยเล่นกีฬามาก่อนย่อมเหนื่อยหอบง่าย แถมยังเคยขี่จักรยานล้มจนบาดเจ็บและพักไป 1 เดือน
“เก่งขึ้นวันละ 1%” คือคติปลุกใจจากคุณพ่อที่ คริส นิกิช ยึดถือเป็นแรงผลักดันตัวเองว่าต้องเก่งขึ้นให้ได้อย่างน้อยวันละ 1% และนั่นก็ทำให้ คริส ลุกขึ้นกลับมาปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ และวิ่งอย่างมุ่งมั่นอีกครั้ง และเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกเหนื่อยล้า เขาก็จะสวมกอดกับคุณพ่อ เพื่อเพิ่มพลังแล้วกลับไปซ้อมใหม่
ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเก่งขึ้นวันละ 1% และซ้อมอย่างเต็มที่ทำให้ คริส นิกิช กลายเป็นนักกีฬาไอรอนแมนโดยสมบูรณ์ ก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวันจริงโดยมี แดน กรีบ คอยประกบอยู่ในทุกภารกิจทั้งว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่งมาราธอน ก่อนที่จะรูดม่านจบลงอย่างสวยงามด้วยภาพของ คริส นิกิช ที่วิ่งผ่านเส้นชัยพร้อมกับเขียนชื่อตัวเองเป็นผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม คนแรกที่แข่งขันจบ
“การได้เป็นผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมคนแรกที่แข่งขันจบเป็นความรู้สึกที่ดีมาก เพราะในที่สุดผมก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าถ้าผมยังทำได้ ทุกคนก็ทำได้เหมือนกัน” คริส นิกิช เปิดใจหลังจบการแข่งขัน
ส่วน นิค คุณพ่อ พูดเช่นกันว่า “เมื่อไหร่ที่ลูกคุณเกิดมาพร้อมกับเป็นดาวน์ซินโดรม ทุกคนจะบอกคุณว่าเขาทำอะไรไม่ได้หรอก แต่คริส ก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วในการแข่งไอรอนแมน จากนี้เขาจะทำอะไรก็ได้แล้ว การทำอะไรสำเร็จเป็นคนแรก มันช่วยเปิดประตูแห่งโอกาสอีกหลายบานให้กับตัวเขาและคนที่เป็นแบบเดียวกับเขา”
“เป้าหมายที่ถูกตั้งไว้สำเร็จแล้ว ได้เวลาตั้งเป้าหมายใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมในปี 2021” คือข้อความที่ คริส นิกิช โพสต์ในอินสตาแกรม แน่นอนว่าเป้าหมายนั้นคือการแข่งขัน ไอรอนแมน ชิงแชมป์โลก ที่ฮาวาย ซึ่งจะมีขึ้นในปีหน้า รวมถึงลงแข่ง สเปเชียล โอลิมปิก ที่บ้านเกิด ปี 2022
ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้น เรื่องราวของ คริส นิกิช น่าจะปลุกพลังให้ใครหลายคนออกมาสู้ และพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นวันละ 1% เหมือนที่เจ้าตัวตั้งให้เป็นคติดำเนินชีวิตในทุกวันนี้