xs
xsm
sm
md
lg

จาก “ดาวน์ซินโดรม” สู่ “ดาว”... ศิลปินช่างทอ แฮนด์เมดจากพรสวรรค์ ที่ตลาดโลกต้องการ [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สีจี๊ด – งานดี – มีชิ้นเดียวในโลก” ผ้าทอแฮนด์เมดจากฝีมือ “ซัน ไกรลาศ” หนุ่มทอผ้าดาวน์ซินโดรมแห่งสตูดิโอ บ้านซันทอสนุก ‘Sunfun Weaving’ สร้างรายได้หลักหมื่นต่อเดือน เป็นที่ต้องการของต่างชาติ พิสูจน์ให้เห็น ใครว่าเด็กพิเศษจะประสบความสำเร็จไม่ได้

ใจแทบสลาย เมื่อลูกชายกลายเป็นดาวน์…

“มีพี่สาวเป็นหมอที่เป็นคนดูแลตั้งแต่ตอนท้อง เขาก็เป็นคนตรวจให้ด้วย ตอนนั้นมีเทคโนโลยีใหม่ที่เขาวัดกระดูกสันหลังคอของเด็ก ส่วนมากที่เป็นเด็กดาวน์ซินโดรมคอจะสั้น กระดูกจะน้อยกว่า ตรวจแล้วไม่เจออะไร แต่คลอดออกมาเป็นดาวน์ซินโดรมก็ตกใจ เราก็ช็อก พี่สาวก็ตกใจด้วย แน่นอนร้องไห้ เสียใจมาก เพราะเป็นลูกคนแรกที่ตั้งใจอยากจะมีค่ะ”

“เกด-เกษณี สกุลดิษฐ์” คุณแม่วัย 60 ปี กล่าวกับทีมข่าว MGR Live ถึงวินาทีที่ลูกชายคนโต “ซัน-ไกรลาศ สกุลดิษฐ์” ลืมตาดูโลกโดยหนุ่มซันกลายเป็นที่รู้จักในสังคมในนามช่างทอผ้าแห่ง บ้านซันทอสนุก ‘Sunfun Weaving’ สตูดิโอทอผ้าเล็กๆ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ความสดใส และความตั้งใจ จากฝีมือหนุ่มวัย 24 ปีคนนี้



ที่นอกจากจะรังสรรค์ชิ้นงาน ทั้งผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ชุดเดรส ฯลฯ ออกมาอย่างประณีตสวยงามแล้ว ความพิเศษอีกอย่างก็คือ เจ้าของผลงานผ้าทอสีสวยเหล่านี้ คือผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม

แต่กว่าจะเดินมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายแม่เกด ได้เล่าย้อนกลับไปเมื่อ 24 ปีก่อน ที่ทั้งข้อมูลและเทคโนโลยีทางการแพทย์ไม่เทียบเท่าสมัยนี้ โดยเฉพาะข้อมูลของผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม ทำให้เธอต้องทำการบ้านอย่างหนักในการเตรียมความพร้อม เพื่อดูแลลูกชายคนนี้ให้ดีที่สุด

“พี่เขาก็ช่วยเทคแคร์แล้วก็แนะนำคุณหมอที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้ เราเองก็บินกลับไปเมืองนอกด้วย เพราะตอนนั้นเคยอยู่อเมริกาพักใหญ่ ก็เลยคิดว่าพวกคนพิการที่เมืองนอกเขาจะดูแลดีกว่า ไปคุยกับ Down Syndrome Association ที่นู่น เขาก็บอกเราต้องย้ายมาเลย

เราก็ชั่งใจกันอยู่นาน ตอนนั้นฐานะ หน้าที่การงานทุกอย่างก็ลงตัวดีแล้ว พี่ก็บอกว่าคิดดูดีๆ นะ กลับไปก็เท่ากับว่าเราต้องเริ่มต้นใหม่ มีลูกอ่อนก็ไม่ง่ายเวลาอยู่เมืองนอก ไม่เหมือนเมืองไทยที่มีพี่เลี้ยง มีครอบครัวช่วยดูแลได้ ปรึกษากับสามี ในที่สุดก็ตัดสินใจอยู่เมืองไทย



[ แม่เกด ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ]

ตอนที่กลับไปเมืองนอกคือกว้านซื้อหนังสือ เราก็ค้นหาหนังสือทุกอย่างเกี่ยวกับดาวน์ซินโดรมมาอ่าน แล้วเพื่อนฝูงที่อยู่ต่างประเทศก็จะส่งข้อมูลข่าวสารให้ ส่วนมากจะเป็น News Letter ที่เกี่ยวกับดาวน์ซินโดรมโดยตรง ในเมืองไทยน้อยมากจริงๆ จะบอกแค่ว่าเกิดจากอะไร ไม่มีข้อมูลอะไรให้ค้นเลย มีที่โรงพยาบาลศิริราช ก็มีเข้าไปคุยด้วย ทุกอย่างเราฝึกจากสิ่งที่เราคิดว่าจะช่วยลูกเราได้ ทุกวิถีทาง ก็ฝึกกันมาตลอดจนโต”

ด้วยความผิดปกติของโครโมโซม ทำให้ซันมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กทั่วไป อีกทั้งมีอาการของโรคหัวใจร่วมด้วย จึงต้องงเข้ารับการผ่าตัดตั้งแต่อายุเพียงขวบกว่า ซึ่งก็ผ่านมาได้ด้วยดี ส่วนด้านสติปัญญา หนุ่มน้อยคนนี้ก็ทำให้ครอบครัวประหลาดใจอยู่หลายครั้ง กับไหวพริบที่นำมาใช้แก้ไขปัญหาเอง โดยที่ไม่ได้มีใครสอน

มีไทรอยด์กับมีหัวใจ ต้องผ่าตัดหัวใจตอนขวบครึ่ง ซึ่งตอนนั้นคุณแม่คลอดคนที่ 2 พอดีเลย สมัยก่อนเรื่องผ่าตัดหัวใจก็ต้องไปผ่าตัดเมืองนอก ของเด็กมันยาก เขาก็จะไปออสเตรเลียกัน ตอนนั้นเราทำเรื่องไว้แล้ว แต่โชคดีมากที่พี่สาว เขาก็รู้จักคุณหมอชื่อดังที่ศิริราช ทำเคสเกี่ยวกับผ่าตัดหัวใจเด็กได้ หลังจากผ่าตัดก็มีเรื่องพัฒนาการและไทรอยด์ที่ดูแลกันมา



เรื่องพัฒนาการเราก็ห่วง เพราะว่าเขาจะคลานช้า พูดช้า กล้ามเนื้อทุกอย่างอ่อนหมด ความที่โครโมโซมผิดปกติ เราต้องฝึกฝนตรงนี้มากหน่อย อะไรที่เราคิดว่าช่วย อย่างเช่น ว่ายน้ำ ตีขา เราก็จับเขาลงสระตั้งแต่ 5-6 เดือน ซึ่งสมัยก่อนการที่จะเอาลูกมาเล่นน้ำตอนตัวแดงๆ ก็ยังไม่ฮิต แล้วก็เปียโน เล่นไม่เป็นหรอก ก็ให้เขาดีด ถือว่าได้ฝึกนิ้วมือ อะไรที่เป็นเกี่ยวกับพัฒนาการก็ให้เขาทำ นอกจากที่พาไปศูนย์พัฒนาการที่โรงพยาบาล

สมัยก่อนเขาจะใช้คำว่า ปัญญาอ่อน เขาจะไม่เรียกหรอกว่าเด็กดาวน์ซินโดรม เรายังไม่รู้เลยว่าดาวน์ซินโดรมคืออะไร เขาจะเรียกรวมเป็นเด็กปัญญาอ่อน แต่ว่าตอนเขาเล็กๆ คุณแม่เห็นว่าเขาจะปีนขึ้นไปหยิบของบนตู้ แล้วไม่ถึง เขาล้มตุ๊กตายัดนุ่นแล้วก็เหยียบขึ้นไปเพื่อที่จะไปหยิบ พอเราเห็นปุ๊บยังสะกิดให้สามีดู ใครจะบอกว่าเด็กพวกนี้ปัญญาอ่อนหรือโง่ ไม่นะ เขาก็มีไหวพริบที่เขาจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้
“โรงเรียนทางเลือก” ปั้นดาวน์ให้เป็นดาว

เมื่อลูกน้อยเติบโตขึ้น แน่นอนว่าทุกครอบครัวต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาให้แก่บุตรหลานของตน ทางด้านครอบครัวสกุลดิษฐ์ก็เช่นกัน สำหรับลูกที่เป็นเด็กพิเศษ พวกเขาเลือกที่จะให้ลูกเรียนร่วมกับเด็กทั่วไป แทนที่จะเรียนในโรงเรียนเฉพาะทาง

“คุณหมอที่ดูแลเรื่องดาวน์ซินโดรมให้เว้นอย่างน้อย 3 ปี แต่พี่สาวตัวเองที่เป็นหมอบอกให้มีไปเลย เพราะว่าถ้าเราไหว กำลังเลี้ยงดูเราไหว มีติดกันเขาจะได้เป็นเพื่อนเล่นกัน เรียนรู้พัฒนามาด้วยกัน ถ้าเป็นไปได้พยายามให้เรียนร่วมกับเด็กปกติ ไม่ต้องเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษโดยเฉพาะ



โชคดีที่ไปเจอโรงเรียนรุ่งอรุณ เขาก็รับเด็กพิเศษมาเรียนร่วมห้องละ 2 คน ช่วยเรื่องสังคม เรื่องการรับรู้ความเป็นอยู่ต่างๆ ชีวิตประจำวัน คิดว่าลูกเราน่าจะเรียนที่นี่ได้ดี ไม่ได้บอกว่าโรงเรียนพิเศษไม่ดีนะคะ ต้องดีอยู่แล้ว เพราะเขามีวิธีการ รู้ที่จะดูแลเด็กพิเศษโดยเฉพาะ โรงเรียนปกติทั่วไปที่พ่อแม่พยายามเอาลูกไปเรียนร่วมโดยที่ไม่มีครูพิเศษมาดูแลเหมือนรุ่งอรุณ อันนั้นอาจจะยากนิดนึงเพราะครูไม่เข้าใจเด็ก

เท่าที่ทราบจากเพื่อนๆ หลายคนที่มีลูกผิดปกติที่ไม่ได้เป็นดาวน์ อย่างเช่นออทิสติกหรือเรียนช้า ลูกตัวเองก็จะโดนนู่นโดนนี่ถ้าเข้าไปเรียนปกติ เพราะไม่ชัดเจนเรื่องความผิดปกติ หรือเป็นแต่ไม่ยอมรับก็มี ลูกฉันไม่เป็นอะไรๆ ก็มี แต่ของดาวน์ซินโดรมด้วยความที่มันชัดเจน ทำให้เราแก้ปัญหาให้เขาเลยตั้งแต่เล็กๆ แต่สมัยนี้คงไม่แล้วนะคะ เพราะข่าวสาร วิวัฒนาการ ความรู้เยอะแยะ สมัยนี้ฝึกกันตั้งแต่เด็กๆ เก่งกันหมดเลย ไม่เหมือนสมัยเรา”



หลังจากที่ซันเข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนทางเลือกแห่งนี้ ก็ค้นพบว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของครอบครัว เพราะโรงเรียนมีกิจกรรมหลากหลาย ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนที่เป็นเด็กพิเศษอย่างเขา

“โรงเรียนนี้กิจกรรมค่อนข้างเยอะ เน้นการฝึกจริง ปฏิบัติจริง ซึ่งซันก็ทำได้พอสมควร ตามเพื่อนไปได้ตลอด มาแยกจริงๆ คือชั้น ม.1 สอนภาษาอังกฤษ เลข วิทยาศาสตร์ สังคมทั่วไป แต่วิธีการสอนก็ปรับเปลี่ยนให้ง่ายกับเด็กพิเศษมากขึ้น ซึ่งเขามี IEP (IEP:Individualized Education Plan) เด็กบางคนเก่งคอมพิวเตอร์เขาก็จะสนับสนุนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เยอะหน่อย ของเด็กดาวน์ส่วนมากจะเป็นพวกอาร์ต ซึ่งซันก็ชัดเจนมาทั้ง 2 อย่าง คือศิลปะกับดนตรี



[ ผ้าทอฝืนแรกของซัน เมื่อสมัยประถม 5 ]

ซันเขาอยู่ชมรมดนตรี ดูนก ทอผ้าด้วย เขาก็ตีกลองในทีมเข้าแถวของโรงเรียนตอนเช้า พอมัธยมปลายคงเห็นว่าซันทอผ้ากับดนตรีได้ดี ที่คุณครูเล่าให้ฟัง พอมีงานอาร์ตของโรงเรียน เขาจะเอาผลงานของเด็กมาโชว์ ของซันก็มีคนซื้อ งานเขาน่าจะเด่น(ยิ้ม)

ซึ่งการทอผ้า ทางโรงเรียนนำเข้ามาสมัยที่มีสึนามิ แล้วทางซาโอริ(การทอผ้าด้วยมือจากประเทศญี่ปุ่น ที่เน้นความเป็นอิสระในการออกแบบลวดลาย) เข้ามาช่วยฝึกให้กับชาวบ้านที่โดนอุบัติภัยครั้งนั้น ทางโรงเรียนก็เหมือนได้ไปเรียนด้วยแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ ช่วยเรื่องสมาธิ ก็เลยนำมาเป็นกิจกรรมพิเศษเสริม ก่อนที่จะมาเป็นวิชา”
จากความชอบ สู่อาชีพ “ช่างทอผ้า”

และแล้วเส้นทางการศึกษาของซันก็ดำเนินมาช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ที่ต้องตัดสินใจว่าจะเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา หรือหากไม่เรียนจะมีกิจกรรมอะไรมารองรับ ระหว่างนั้นเอง เขาได้ค้นพบความสามารถพิเศษของตนเอง จากการเข้าชมรมในโรงเรียน นั่นก็คือ “การทอผ้า”

“คุยกับเขาว่า ถ้าซันเรียนจบ ไม่ต้องไปโรงเรียนแล้ว ซันอยากทำอะไร เขาก็บอกไม่รู้ เพราะเขาติดโรงเรียน คือโรงเรียนก็อบอุ่นจริงๆ อยู่เหมือนบ้านหลังที่ 2 เขาก็บอกถ้าไม่ใช่ที่รุ่งอรุณก็ไม่อยากเรียนพอได้คำตอบแบบนี้เราก็ถามเขา ถ้าต้องให้ซันเลือกทำทุกวัน ซันทำอะไรได้ เขาก็บอกว่า เขาชอบเล่นดนตรี เขาชอบทอผ้า



พอมีคำว่าทอผ้าหลุดขึ้นมา พ่อบอกว่าทอผ้าน่าจะโอเค เพราะดนตรีมันก็ไม่ง่ายหรอกถ้าจะเป็นอาชีพทอผ้าก็ไม่คิดว่าง่ายนะคะ เราเองทอไม่เป็นแต่คิดว่าน่าจะพอไหว พอไปปรึกษาครู ครูเขาก็เชียร์ค่ะ เขาบอกว่าทอผ้าซันเด่น พอตัดสินใจปุ๊บ คุณครูบอกคุณแม่ต้องมาเรียนด้วย เพราะว่าเขาไม่ได้ทำได้ทุกกระบวนการ คุณแม่ต้องช่วย เวลาเขาติดขัดหรือมีปัญหาอะไร ก็เลยเข้าไปเรียนกับลูกด้วยอาทิตย์ละครั้ง ตามชั่วโมงเรียนของเขา จนเรารู้วิธีการ”

ไม่เพียงแค่อนาคตของผู้เป็นลูกเท่านั้น อนาคตของแม่เกดเองก็เปลี่ยนไป ชนิดที่ว่าพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเธอต้องยอมลาออกจากงาน เพื่อมาดูแลลูกชายคนนี้อย่างใกล้ชิด



“ทำงานเป็นเอเจนซี่โฆษณา เป็นที่ปรึกษา แล้วก็เป็นอาจารย์สอนพิเศษตามมหาวิทยาลัยด้วยค่ะ คุณพ่อคุณแม่หลายคน เขาหยุดเร็วกว่าเราเยอะ ต้องออกมาประกบลูกกันแล้ว คุณแม่ทำงานอยู่เวียดนาม แต่ก็บินไป-กลับทุกอาทิตย์ เราเริ่มรู้แล้วล่ะว่าเดี๋ยวลูกเราจบมา ถ้าเรียนต่อจริงเราต้องประกบอย่างใกล้ชิดเลย หรือว่าถ้าไม่เรียนจะทำยังไง ก็เลยปรึกษาคุณพ่อว่า ต้องยอมออกจากงาน ต้องยอมทิ้งทุกอย่างที่เราเคยทำมา ตัดสินใจกลับเมืองไทย

เรามีพื้นฐานด้านศิลปะมาบ้าง เพราะจบมาทางด้านนี้ น่าจะพอช่วยได้ ถ้าเราทำอยู่ในบ้าน แน่นอนมันจะไม่รู้สึกเหมือนทำงาน ก็กลัวว่าเดี๋ยวจะอยู่ในห้องตัวเอง ก็ปรึกษากับคุณพ่อเดี๋ยวจะขอสร้างพื้นที่สตูดิโอเล็กๆ เป็นที่ที่เราทำงาน ทำกิจกรรม หรือเป็นโรงเรียนของเขาก็ได้ เพราะคุณแม่ก็สอนได้ สอนคนอื่นมาตั้งเยอะ ลูกตัวเองก็น่าจะสอนได้ ก็เลยตัดสินใจลงทุนทำตรงนี้ขึ้นมา”



เมื่อตกผลึกได้ดังนั้น แม่เกดจึงรีโนเวทพื้นที่หน้าบ้านบางส่วนให้เป็นสตูดิโอ 2 ชั้น โดยใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท และแล้ว สตูดิโอ บ้านซันทอสนุก ‘Sunfun Weaving’ จึงถือกำเนิดขึ้น ปลายเดือนเมษายน 2558

“บอกลูกว่า อาชีพลูกเลยนะ นี่คือการทำงาน เขาไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำงาน ก็คุณพ่อคุณแม่มีตังค์แล้วทำไมเขาต้องทำงาน ไม่ได้หมายถึงรวยนะคะ หมายถึงมีเงินให้เขาใช้ ก็บอกไม่ใช่ลูก คนทุกคนจบการศึกษาแล้วต้องมีอาชีพ ต้องทำงาน คุณพ่อคุณแม่ต้องทำงาน ก็ต้องอธิบายให้เขาฟัง พอเขาเข้าใจก็เริ่มรู้ ต้องทำทุกวันนะ ลงมาทำงานกี่โมง เลิกกี่โมง ตอนนั้นใช้วิธีล่อ พิมพ์นามบัตรให้เขาก่อนว่าเป็นช่างทอ (หัวเราะ)



เขาก็ตื่นเต้น ขนาดยังไม่จบเลย เอานามบัตรไปแจกแล้ว เริ่มแจกผู้ปกครอง คุณครู ว่าเขาจะทำงานนี้ พอจบปุ๊บก็เปิดเลยค่ะ ทุกอย่างพร้อม ซึ่งคุณครูที่โรงเรียนที่ดูแลด้านผ้าทอก็น่ารักมาก มาช่วยดู พาไปซื้อไหม ตอนนั้นเราก็ไม่ได้มีไอเดียอะไร แค่ก็อปปี้ทุกอย่างที่โรงเรียน

บอกเขาเลยนี่ออฟฟิศซันนะ (ทำงานวันแรก) ดีเลยค่ะ เป็นเรื่องเป็นราวแล้วก็ตั้งใจมากค่ะ แรกๆ นี่เป๊ะๆ เด็กดาวน์ซินโดรมส่วนมากจะดีตรงนี้คือเขาจะเป๊ะๆ ตาม Schedule ของเขา ห้าโมงครึ่งแล้ว เลิกงานแล้วแม่ อะไรอย่างนี้
ผ้าทอช่างซัน กล้าแตกต่าง – มีชิ้นเดียวในโลก!

“เพื่อนฝูงเห็นงานก็งงว่า นี่งานผ้าทอจากซันเหรอ เขาก็ชมว่าสวย แล้วก็เริ่มจากตรงนั้นเลย เราขายจากผ้าพันคอออกมาก่อน มาเรื่อยๆ ปากต่อปาก เพื่อนฝูงก็อุดหนุนทอผ้า โชคดีที่เราเป็นข่าวตั้งแต่ปีแรกเลยนะคะ ก็เลยมาได้เรื่อยๆ”


ผ่านมา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ฝีมือการทอผ้าของช่างทอดาวน์ซินโดรม ได้รับการยอมรับจากผู้พบเห็นอย่างล้นหลาม ด้วยเพราะงานแต่ละฝืนถูกทอด้วยความตั้งใจ อีกทั้งสีสันก็สดใสสะดุดตา ส่งให้ธุรกิจเล็กๆ นี้ สร้างรายได้ให้ซัน เฉลี่ยถึงหลักหมื่นต่อเดือน



“แรกๆ เราไม่แน่ใจ แต่พอเห็นฟีคแบคจากคนอื่นก็คงสวยจริงนะ ทุกคนก็ชม ความเป็นเอกลักษณ์ของเขาก็คือ เขาไม่มีขอบเขต เขากล้าที่จะใช้อะไรที่แตกต่าง ไม่เหมือนกันแต่มาทอด้วยกัน เดี๋ยวขนเดี๋ยวกำมะหยี่ ที่เราเห็นทั่วไป ผ้าทอส่วนมากใช้ไหมก็คือไหมเลย ใช้ฝ้ายก็คือฝ้ายเลย ชนิดเดียว แต่ของซัน เขาไม่มีขีดจำกัด

เรื่องสีก็เหมือนกัน เอาชมพูชนแดง หรือเอาส้มชนแดง เรารู้สึกสีมันใกล้เคียง ถ้าเป็นเรา มันใกล้กันเราก็คงไม่ชน หรือบางทีชมพูแปร๋นมากใส่โดดเข้ามา ทั้งที่ตัวเองก็เคยสอน color and design สอนทฤษฎีสีอยู่ที่จุฬาฯ พอมาเห็นลูกหยิบสี ความบังเอิญหลายครั้งที่มันไปเข้าอยู่กับ color harmony โดยที่เขาไม่รู้ตัวเลย หลายครั้งเราทึ่ง ตรงทฤษฎีสีเป๊ะเลย”

(เวลาในการทอ)แล้วแต่ความยาวกับหน้ากว้าง ปกติถ้าเป็นฝืนเล็กอย่างผ้าพันคอก็จะเร็วหน่อย 2 วันก็เสร็จ ถ้าขึ้นชุดจะขึ้น 3 เมตร จะใช้เวลาทอซัก 3-4 วัน แต่ก่อนที่จะทอได้ต้องขึ้นเส้นยืน บางทีเขายุ่งมากๆ คุณแม่จะขึ้นเส้นยืนให้ด้วย พอเสร็จต้องมาร้อยฟันหวีหรือฟืม ใส่ช่อง ร้อยตะกอเว้นหน้า-หลัง แล้วก็ผูกกี่ เซ็ตอัปขึ้นมาเพื่อที่เขาจะทอ



ขั้นตอนตรงนี้ซันทำไม่ได้ เคยฝึกเขาทำ เขาทำได้แต่จะช้า เพราะต้องเรียงทุกเส้นไม่ให้พลาด เรื่องสายตาเรื่องอะไรด้วย คุณแม่จะเตรียมให้ ถ้ารวมตรงนี้ด้วยก็วันนึงเลยค่ะที่ขึ้นกี่ ส่วนรายได้เดือนละ 7,000-8,000 ก็มี บางเดือนก็ 60,000-70,000 ก็มี แล้วแต่ เฉลี่ยก็ไม่ได้เยอะมากค่ะ เฉลี่ยหมื่นกว่าถึง 20,000 สำหรับเด็กอย่างซัน คิดว่าโอเค แล้วเราก็ไม่ได้มีหน้าร้าน เราก็ทำอย่างนี้สบายๆ เป็นรายได้ของเขาเอง”

เมื่อถามถึงความรู้สึกของผู้เป็นแม่ ถือว่าเป็น Working women คนหนึ่ง แต่ต้องมาออกจากงานเพื่อมาดูแลลูกชายอย่างใกล้ชิด อีกทั้งต้องมาเรียนรู้การทอผ้าจาก 0 ที่ถือได้ว่าต้องเสียสละเป็นอย่างมาก สำหรับแม่เกดเอง เธอให้คำตอบว่า ไม่ว่าพ่อแม่คนไหนก็ย่อมทุ่มเทเพื่อลูกไม่ต่างจากเธอ



“(เป็น Working woman) มากเลยค่ะ (หัวเราะ) อยู่ในตำแหน่งที่ค่อนข้างจะสูง เราสั่งให้คนอื่นทำ เรามีลูกน้องช่วย ตรงนี้เราต้องทำเองหมด สั่งใครไม่ได้ ต้องเรียนรู้เอง จากที่ทอผ้าไม่เป็น จากที่ไม่รู้ว่ากี่ใช้งานยังไง ไม่เคยเย็บจักรก็ต้องเย็บ จนตอนนี้ 5 ปีแล้วค่ะ รู้สึกว่าทำได้หมด แก้ได้ทุกจุด คิดว่าพ่อแม่ทุกคนก็ต้องทุ่มอย่างนี้ แล้วแต่ว่าจะเลือกไปทางไหนที่ตัวเองถนัดหรือลูกถนัด

บางคนบอกทำไมไม่ไปเรียน ฝึกเย็บให้เป็นเรื่องเป็นราว ไปๆ มาๆ มันเหมือนว่า เราเริ่มมาอย่างนี้แล้ว เราปล่อยไปอย่างนี้ดีกว่า มันอาจจะเป็นข้อดีที่ให้งานเราไม่เหมือนใครตรงนี้ด้วยรึเปล่า เราอยากทำอะไรเราก็ทำโดยที่เราไม่ได้ไปตามแพทเทิร์นหรือตามขบวนการที่มันต้องถูกต้อง เราก็ทำแบบลูก ลูกก็ทำตามความเป็นตัวเอง สบายๆ ไปกับสิ่งที่เขาได้ประสบการณ์มาเพิ่มทุกวัน ตัวเองตอนนี้ก็เป็นอย่างนั้น

ชอบกระเป๋าทรงนี้ ลองทำขึ้นมา สวยดีก็โพสท์ลง ฟีดแบคดีก็ทำออกมาขาย เสื้อผ้าก็เหมือนกัน แรกๆ เริ่มมาจากผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ตอนหลังคิดว่าเราจะขายแบบนี้ไปทั้งปีมันก็ตันนะ ก็เลยลองทำเสื้อผ้าใส่เองก่อน เอาผ้าของเขามาตัดใส่ พอใส่ไปงาน ทุกคนเขาก็บอกสวยจัง ก็บอกเขาเลยผ้าทอของลูก เขาแตกตื่นแล้วก็สั่งตาม เริ่มมาจากตรงนั้นจริงๆ เริ่มทำเสื้อขายจากคนที่เห็นเราใส่ จนมาเป็นอย่างนี้ มีออเดอร์มาเรื่อยๆ ค่ะ”



ไม่เพียงแค่จำหน่ายผ้าทอจากฝีมือช่างซันเท่านั้น นอกจากนี้ ภายในสตูดิโอ ยังเปิดคอร์สให้คนที่สนใจในการทอผ้าเข้ามาเรียนรู้ โดนมีแม่เกดเป็นผู้สอน ซึ่งนักเรียนก็มีหลากหลาย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ตลอดจนเด็กพิเศษ

“คิดว่าถ้าสอน ซันก็จะได้มีเพื่อน มีคนไป-มาบ้าง สอนแรกๆ ตอนที่เป็นข่าวก็มีเปิดเป็นคอร์สเวิร์คชอปหลายๆ คน ตอนหลังงานเราเริ่มยุ่งมาด้านผลิต ก็รับเฉพาะส่วนบุคคลที่ติดต่อเข้ามา ก็มีเด็กพิเศษ มีคุณครูบางโรงเรียน มีนักเรียนแฟชัน เขาอยากรู้เให้เป็นพื้นฐาน คนที่ชอบผ้าทอจริงๆ แล้วรู้สึกว่ามันยากนะ แต่ซันทำได้ เขาก็น่าจะทำได้ ก็มีโทรเข้ามา คนเกษียณก็มีค่ะ หรือคนที่เห็นผ้าทอจากสีสันของเรา รู้สึกว่ามันแตกต่างกว่าที่เคยเห็น ก็มีติดต่อเข้ามา

มันไปได้เรื่อยๆ โดยที่เราไม่รู้ตัวนะคะ มีเพื่อนคนนึง เขาบอกว่า เอาไปให้เพื่อนคนอื่นหรือเพื่อนต่างชาติดู เขาเห็นงานออกมาจากในเฟซบุ๊กเรา เขาบอกว่า โห… แบรนด์นี้เขามีอยู่กี่คน ก็บอก 2 คนแม่ลูก เขาตกใจ ทำได้เยอะขนาดนี้ คือเราก็ไม่รู้ตัวเพราะทำไปเรื่อยๆ ไงคะ ก็เลยคิดว่า 5 ปีเรามาได้ขนาดนี้ก็โอเคค่ะ แฮปปี้ดี”




ซื้อเพราะคุณค่า อย่าซื้อเพราะสงสาร

“งานทุกชิ้นเราตั้งใจแล้วเราทำด้วยใจจริงๆ ถ้าใครชอบใจผลงาน ช่วยสนับสนุนก็ดีค่ะ อย่าซื้อเพราะสงสารเรา ไม่ใช่ ซื้อเพราะพอใจผลงานเราดีกว่านะคะ อย่างที่บอก งานของเราแต่ละชิ้นทำด้วยใจจริงๆ เริ่มตั้งแต่ผ้าทอที่ซันทอไม่ซ้ำกันอยู่แล้ว ชิ้นเดียวในโลก เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะถึงเห็นลายขาวดำ ให้ทอใหม่ เรียงสีหรือเรียงอะไร มันก็ไม่ออกมาเหมือนเดิม ด้วยการตัดเย็บหรืออะไรก็แล้วแต่ ตัวเองละเอียด พิถีพิถันมากพอสมควรกว่าจะได้งานชิ้นนึงออกมา

ไม่อยากให้คนเห็นว่างานของคนพิการช่วยสนับสนุนเพราะสงสาร แล้วก็ไม่เห็นคุณค่ากับงานนั้น ทำไมบางคนบอกว่า ของเราราคาสูงไปรึเปล่า เลยบอกลองไปดูวิธีการทำก่อน แล้วทำไมเราให้คุณค่างานคนพิการถูกๆ กว่าเขาจะทำออกมาได้ เราก็เลยทำจากความรู้สึกว่า เราใช้เวลาประมาณนี้ ควรจะใช้ค่าเวลาประมาณนี้ ค่าของประมาณนี้ค่ะ

แต่ก็ไม่ได้ทุกคนนะคะ คนที่เขารับราคาไม่ได้เขาก็ไม่สนใจอยู่แล้ว หรือคนที่เขารับราคาได้ เขาไปเทียบกับผ้าทอจริงๆ ที่ผืนละเป็นหมื่น หลายๆ พัน เขาก็เข้าใจ ก็ต้องขอขอบคุณถ้าลูกค้าท่านไหนรอนาน แล้วก็หลายๆ ท่านน่ารักมาก ยอมรอข้ามปี ไม่ได้หมายความว่า 1 ปีนะคะ หมายความว่า 5-6 เดือน ก็ยังเคยมี ก็ขอบคุณจริงๆ ค่ะ แล้วเราก็จะพยายามพัฒนางานให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ค่ะ”


“เขามาสร้างความสุขให้เราจริงๆ”

ตลอดเวลากว่า 24 ปี ที่ซันได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว แม้จะต้องมอบความดูแลมากเป็นพิเศษเนื่องจากเขามีอาการดาวน์ซินโดรม แต่ขณะเดียวกัน ลูกชายคนนี้ก็ได้ให้ข้อคิด ที่ทำให้ผู้เป็นแม่ได้ฉุกคิด และนำมาเป็นสิ่งเตือนใจตนเอง โดยเฉพาะเรื่อง “การปล่อยวาง”

“ได้เรียนรู้จากเขาเยอะมากเลยค่ะ (เน้นเสียง) เยอะซะจนตัวเองเขียนไดอารี่เป็นบทๆ ไว้ตั้งแต่เขาเล็ก ว่าเราได้เรียนรู้อะไรจากเขา เคยจะพิมพ์หลายครั้งแล้ว แต่สรุปกันไม่จบซักที ยังคิดอยู่ว่าถ้าเอามาลงตอนนี้ยังจะมีประโยชน์มั้ย เพราะมันก็เก่าแล้ว รู้สึกว่าตัวเองเหมือนได้เรียนธรรมะจากเขา เรื่องการปล่อยวาง



[ แคมป์ปิ้งสัมผัสธรรมชาติยามว่าง ]

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คุณแม่สั่งไหมแล้วมันไม่มาซักที ต้องรีบเพราะลูกค้าทวง เรามีไหมที่เป็นไจใหญ่ๆ มันยากมากที่เราต้องมากรอ มันติดขัดไปหมด ก็บ่น ทำไมเราต้องมาทำอะไรอย่างนี้ มันเสียเวลา ไม่สนุกไม่เหมือนตอนที่เราทำงานออฟฟิศ ซันเขาก็ถาม ‘แล้วแม่จะกลับไปทำงานอีกเหรอ’ เขาไม่อยากให้แม่กลับไปทำงาน เราก็บอกว่าเปล่า (ซันที่นั่งอยู่ข้างๆ พูดขึ้นมาว่า “แล้วแม่พูดไปทำไม”) เลยขำ เตือนสติเราเลย เราบ่นไปทำไม ในเมื่อเราก็ต้องทำตรงนี้เราทำไปสิ

กับอีกตัวอย่างนึง คุณพ่อเขาจะทานเจทุกปี วันนั้นเราก็ไปเรียนเปียโนมา ขากลับก็แวะเติมน้ำมัน ก็มีร้านอาหารเจด้วย ตอนที่รอเติมน้ำมันก็บอก เดี๋ยวแม่ไปซื้ออาหารเจไปฝากพ่อดีกว่า ฝนดันตกปรอยๆ เราก็ไม่ไปแล้ว เปลี่ยนใจ เขาถาม “แม่ แม่รักพ่อมั้ย ถ้าแม่รักพ่อแม่ต้องไปซื้ออาหารเจให้พ่อ” คือหลายๆ อย่างที่เขาสอนเรา ทำไมเราต้องมีเงื่อนไข

แม้กระทั่งเรื่องโดนเพื่อนเขี่ยจากห้องไลน์ เรานี่กังวลมากกลัวเขาเสียใจ เพราะเขาเสียใจจริงๆ คิดวนไปวนมา พอซักเย็นๆ หน่อยเราก็ถาม “ซัน เป็นยังไงบ้าง หายเสียใจรึยัง ดีขึ้นรึยัง” เขาตอบ “แม่ มันจบไปแล้ว” (หัวเราะ) ก็เลยมีความรู้สึกว่า มนุษย์ปกติอย่างเรามันเรื่องเยอะ สร้างเงื่อนไขให้ตัวเองเยอะ เขาจบคือจบ อยู่กับปัจจุบัน เราได้เรียนรู้จากเขาเยอะมากจริงๆ” เขาก็รู้เนอะว่าพ่อแม่รักเขา เขามาสร้างความสุขให้เราจริงๆ” (หันไปยิ้มกับลูก)



แม้จะมีอาการดาวน์ซินโดรม แต่ซันก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากมีความพยายามและความตั้งใจ ก็สามารถบรรลุเป้าหมายได้ จึงทำให้เรื่องราวของเขาได้กลายมาเป็นต้นแบบให้แก่คนในสังคม โดยเฉพาะในหมู่เด็กพิเศษด้วยกัน

“ไม่ทราบว่าเป็นต้นแบบรึเปล่านะคะ ก็คิดว่าน่าจะเป็นแรงบันดาลใจได้ในระดับนึง แล้วก็อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนไม่ต้องท้อที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ ซักวันนึงคุณหาจุดให้เจอ หาศักยภาพของเขาให้เจอ แล้วก็พยายามช่วยเหลือสนับสนุนเขาค่ะ อย่างน้องชายก็มาช่วยเป็นนายแบบให้ เวลาเราไปออกงานที่ไหนเขาก็ไปช่วย น้องชายเขาก็สนับสนุนดี ช่วยเหลือดี

เราอยู่กับปัจจุบันมากกว่า ก็พยายามทำวันนี้ให้ดีที่สุด ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้แบรนด์มันเติบโตกว่านี้เหมือนกัน แต่เราก็มาคิดอีกที ไปอย่างนี้เล็กๆ ของเราก็โอเค ก็มีความสุข เพราะว่าอะไรนะ (หันไปพูดกับลูก) ทอผ้าเสร็จ กิน นอน เขาก็มีความสุขกับการทำงาน ไม่ได้เครียด เหนื่อยก็นอนพักสายตา ตื่นขึ้นมาก็ทานขนมช่วงบ่าย แล้วก็ทำงานต่อ เอาความสุขเป็นหลักมากกว่า เราถือว่าเราทำผลงานของเราให้ดี มันก็เป็นความภาคภูมิใจของเรา”



เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย คุณแม่ของช่างทอผ้าหนุ่ม ใช้โอกาสนี้ฝากถึงมุมมองที่มีต่อผู้มีอาการดาวน์ซินโดรม เพราะพวกเขาก็มีความสามารถและพัฒนาได้ดีไม่แพ้คนทั่วไป หากได้รับโอกาสและการยอมรับจากคนในสังคม

“ที่เคยเขียนและคิดจะเผยแพร่ เพราะอยากให้คนรับรู้ว่า เด็กพิเศษเขาพิเศษจริงๆ ฉะนั้นอย่าไปรังเกียจ อย่าไปดูถูก มันไม่ใช่โรคติดต่อ พูดถึงคนทั่วไปเวลามองเด็กพิเศษนะคะ อยากให้เขายอมรับเด็กพวกนี้ เพราะคนทุกคนไม่เหมือนกัน มีแตกต่าง มีสูง มีต่ำ มีฉลาด มีโง่ มีดี มีเลว มีทุกอย่าง ฉะนั้นอย่าไปแบ่งว่าพิเศษหรือไม่พิเศษ ถ้าเราเข้าใจและยอมรับ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน อันนี้สำคัญ จะช่วยให้สังคมดีขึ้น แล้วก็เกื้อกูลกันมากขึ้น

สำหรับผู้ปกครอง มั่นใจว่าพ่อแม่ทุกคนต้องรักลูกตัวเองอยู่แล้ว พยายามหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกตัวเองอยู่แล้ว แต่อย่าไปเครียด ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างตัวเองก็คิดค่ะ ตอนที่หยุดงานแล้วต้องมาอยู่กับลูก ถ้ามันไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร เราถือว่าเป็นที่ที่เราทำกิจกรรมกับลูกไป แต่ถ้าสำเร็จขึ้นมาซักวันนึงมันก็ดีนะคะ


อยากเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ทุกคน เสียใจอยู่แล้ว ไม่ได้ในสิ่งที่เราคาดหวัง มันก็ผิดหวัง แต่จากตรงนั้นเราต้องดูซิว่าเราจะทำยังไงไม่ให้เป็นอุปสรรคกับความสุขที่เรามีอยู่เดิม แล้วพยายามสร้างให้ครอบครัวเรามีความสุขต่อไปค่ะ”





ได้มากกว่าทอผ้า คือพัฒนาการลูก

“เรื่องพัฒนาการ การใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คอาจจะมีผลนะคะ เพราะความที่เขาต้องตอบหรือคุยกับลูกค้าบ้าง คุณแม่เวลาสอนเขาจะเน้นเรื่องกาลเทศะมาก คำนี้เขาจะคุ้นมาก ฉะนั้นหลายคนที่คุยกับซัน เขาจะบอกว่าถ้าไม่เจอตัวเขาจะไม่ทราบว่าเป็นดาวน์ซินโดรม คือเหมือนปกติ จังหวะจะโคนเวลาที่เขาจะตอบหรือเขาจะแหย่ ลูกเล่นที่ใส่เข้าไป แทบจะเหมือนปกติ อันนี้คิดว่ามีผล คุณแม่ถึงยินดีที่จะให้มีเด็กนักเรียนมาเรียน หรือมีผู้ใหญ่หรือใครก็แล้วแต่เข้ามา

เรื่องสัมมาคารวะเขาดีตั้งแต่เด็กแล้ว การที่จะพูดคุยกับคน หรือการใช้ภาษาที่มันสมควร ถ้าใช้ภาษาที่ไม่สมควรคุณแม่ก็จะแนะนำ แต่ไม่ได้พูดถึงคำหยาบนะคะ ไปหยอกล้อในสิ่งที่บางครั้งไม่ใช่กับผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากจะดี คนจะชมซะมากค่ะ หรือแม้บางทีที่เขาเชิญชวนคนมาซื้อของ บางคนก็จะขำ จะชอบ เขาจะเป็นคนสนุกสนานอยู่แล้วด้วย

เวลาเขาเริ่มขี้เกียจ จะบอก ซันเบื่อแล้วใช่มั้ย ไม่อยากทำใช่มั้ย อยากให้แม่กลับไปทำงานมั้ย หรือเราเลิกมั้ย ให้แม่หาคนอื่นช่วยมั้ย เขาก็ไม่เอา ไม่ยอม ฟิตขึ้นมาขยันอีก เพราะเขารู้ว่านี่คืองาน คือความรับผิด ถ้าคุยกับเขาว่าวันนี้ลูกค้ารออันนี้ ต้องทำให้ได้หรือให้เสร็จ เขาจะยอมอยู่ถึงทุ่มสองทุ่มก็มีค่ะ คิดว่าความรับผิดชอบก็ได้เยอะ หรือเวลาคุยกับลูกค้าเขาก็ทำได้ดี”







สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ: สันติ เต๊ะเปีย
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “SunFun Weaving”
ขอบคุณสถานที่ : สตูดิโอ “บ้านซันทอสนุก SunFun Weaving”


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น