การทำงานถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของคนเรา โดยแต่ละคนต่างก็มีอาชีพ เป้าหมายและวิธีการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถ ความสนใจ ปัจจัยด้านรายได้หรือแม้แต่จังหวะของชีวิต หลายคนสามารถมีความสุขกับงานที่ทำได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ขณะที่อีกหลายคนมักตั้งคำถามกับตัวเองเกี่ยวกับสิ่งที่ทำอยู่บ่อยครั้งจนสะสมเป็นความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ
อาจมีใครบางคนที่กำลังรู้สึกอิจฉาและสงสัยว่าทำไมคนที่เรารู้จักถึงได้รับโอกาสดีๆที่ได้ทำงานที่รัก มีหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานที่ดี เติบโตก้าวหน้าไปได้อย่างที่ควรจะเป็น หรือมีเวลาพักผ่อนและทำกิจกรรมที่ชื่นชอบได้เสมอ ซึ่งตรงกันข้ามกับความรู้สึกของตัวเองอย่างสิ้นเชิงที่อะไรๆก็ไม่เป็นอย่างใจคิด การงานติดขัดจนสมองนึกอะไรไม่ออก หันมองไปรอบตัวก็แทบไม่มีตัวช่วยหรือมีแต่ตัวซ้ำเติม จนคิดอยากจะลาออกจากงานวันละหลายรอบแล้วล่ะก็อาจเป็นไปได้ว่าคุณกำลังตกอยู่ใน “ภาวะหมดไฟในการทำงาน” หรือ “Burnout Syndrome” นั่นเอง
คงมีน้อยคนที่จะเริ่มต้นงานใหม่ด้วยความรู้สึกแย่ๆ โดยมากคนเราจะตั้งเป้าหมายและมีความคาดหวังกับงานที่ทำเอาไว้สูงเสมอ เป็นเรื่องปกติที่น่ายินดีสำหรับการเป็นสมาชิกใหม่ในหน่วยงาน ซึ่งทำให้เกิดความตั้งใจในการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ให้ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเวลาผ่านไปหลายคนยังคงสามารถรักษาความรู้สึกที่ดีต่องานเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่องและพบกับความท้าทายใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา แต่คนที่กำลังเข้าสู่ภาวะ Burnout Syndrome มักมี 2 เรื่องให้ต้องคิด คือ
1.ตัวตน ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะยังให้คำตอบกับตัวเองไม่ได้จนกว่าจะได้ลองลงมือทำดู การค้นพบตัวเองในภายหลังว่าสิ่งที่ทำอยู่น่าเบื่อเกินกว่าที่จะทนไหวและไม่ใช่งานในอุดมคติที่เคยอยากจะทำสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ปัญหาคือการลองผิดลองถูกเกี่ยวกับงานนั้นไม่ง่ายเหมือนการปิดสวิตช์ไฟแล้วเปิดใหม่ได้เรื่อยๆ หลายคนมีภาระมากเกินกว่าที่จะเสี่ยงวัดดวงออกไปหางานใหม่ จึงต้องจำใจทนอยู่กับสิ่งที่เคยรักต่อไป
2.สภาพแวดล้อม ในชีวิตคนเรามีหลายสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมและสภาพแวดล้อมในการทำงานก็เป็นหนึ่งในนั้น เริ่มตั้งแต่สถานที่ตั้ง กฎระเบียบ ระบบการทำงาน หัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ผู้รับบริการ ซึ่งผูกพันกับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบ ผลประโยชน์และค่าตอบแทน รวมถึงความก้าวหน้าในอาชีพ หากเริ่มรู้สึกว่ามีสิ่งใดที่เป็นอุปสรรคหรือทำให้เกิดความคับข้องใจก็มักทำให้ชีวิตการทำงานไม่มีความสุขอีกต่อไป
ไม่ว่าสิ่งที่กำลังคิดอยู่จะเป็นแบบใดหรืออาจเป็นพร้อมกันทั้ง 2 แบบข้างต้น การปล่อยให้ความคิดนี้เกิดขึ้นซ้ำๆเดิมๆแทบทุกวัน รวมทั้งอาจมีปัญหาใหม่ที่ไม่คาดคิดเข้ามารบกวนจิตใจเพิ่มขึ้นไปอีก จะทำให้เกิดพฤติกรรมการแสดงออกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสะท้อนถึงภาวะหมดไฟในการทำงานที่เห็นได้ชัดเจนใน 3 ลักษณะ ดังนี้
1.เกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายต่องานที่ทำหรือมีความคับข้องใจต่อสภาพแวดล้อมในการทำงาน เกิดความเครียดและความเหนื่อยล้าที่ต้องแบกรับความกดดันอยู่ตลอดเวลา ทำให้อารมณ์ขุ่นมัวและไม่มั่นคง หงุดหงิดฉุนเฉียวหรือซึมเศร้าได้ง่ายจนคนรอบข้างคาดเดาไม่ถูก ส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ
2.ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเกิดจากสภาพร่างกายและจิตใจที่ไม่พร้อม ประกอบกับการมีทัศนคติที่ไม่ดีต่องานที่ทำจนเกิดเป็นความเฉื่อยชา ขาดสมาธิและแรงจูงใจที่จะมุ่งสร้างผลงานให้สำเร็จได้โดยเร็ว แทนที่จะพยายามแก้ไขและปรับปรุงกลับหาเหตุผลมาสนับสนุนตัวเองเพื่อหลบเลี่ยงที่จะไม่ทำงาน
3.เกิดปัญหาในการสื่อสารและรักษาความสัมพันธ์ในที่ทำงาน เนื่องจากมีมุมมองทางลบต่อทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ยิ่งทำให้ขาดการสนับสนุนที่จำเป็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานให้สำเร็จราบรื่น เมื่อพบแต่ปัญหาจึงไม่ต้องการทนอยู่ต่อไปและได้แต่คิดวนเวียนถึงเฉพาะเรื่องการออกจากงาน
คำถามคือ คุณเคยอยู่ในภาวะ Burnout Syndrome หรือเปล่า ถ้าเคย สิ่งสำคัญลำดับแรกคือการรับรู้และเข้าใจถึงสภาวะทางจิตใจของตัวเอง เพื่อที่จะสามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้มีความสุขกับการทำงานได้มากยิ่งขึ้น ต่อไปนี้เป็น 5 คำแนะนำที่คุณอาจใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับภาวะหมดไฟในการทำงาน
1.ให้เวลากับตัวเอง ได้มีเวลาคิดทบทวน ผ่อนคลายไปกับการทำสิ่งที่ชอบ หรือเรียนรู้ที่จะทำสิ่งใหม่ๆบ้าง ซึ่งสามารถช่วยฟื้นฟูพลังทางบวกให้พร้อมที่จะกลับมาเดินหน้าไปกับงานที่รักได้อีกครั้ง
2.ใช้เวลากับครอบครัว คุณสามารถวางใจและพึ่งพาคนในครอบครัวให้เป็นที่พักใจจากความเหนื่อยล้าและความเครียดได้เสมอ การพูดคุยและใช้เวลาร่วมกันมากขึ้นจะทำให้คุณไม่รู้สึกว่ากำลังต่อสู้กับสิ่งต่างๆโดยลำพัง
3.ดูแลสุขภาพกาย อาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนเพียงพอและออกกำลังกายสม่ำเสมอคือกุญแจสำคัญในการหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วยที่เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในการทุ่มเทความคิดและพละกำลังให้กับงานที่รัก
4.ฝึกใจให้เข้มแข็ง เรียนรู้วิธีทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นและมองโลกในแง่ดี รู้จักยืดหยุ่นและทำใจยอมรับความเป็นไป จะทำให้พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหาและอุปสรรคได้โดยไม่หวั่นไหวหรือมีใจเอนเอียง
5.เปิดใจยอมรับผู้อื่น ในการทำงานสิ่งหนึ่งที่เป็นไปไม่ได้คือการทำงานโดยปราศจากผู้คน เมื่อหลีกเลี่ยงการสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ได้จึงจำเป็นต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราโดยเข้าใจและยอมรับสิ่งที่คนอื่นเป็น
การแก้ปัญหา Burnout Syndrome ด้วยการคิดวนเวียนอยู่กับการออกจากงานที่ทำนั้นไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน เพราะสุดท้ายแล้วเราอาจไม่มีวันหางานที่เหมาะสมกับตัวเองได้เลยหากไม่สามารถควบคุมปัจจัยต่างๆให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ ดังนั้น ในเมื่อสิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือตัวของเราเองด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ เพียงเท่านี้ก็สามารถมีความสุขกับการทำงานได้มากขึ้นแล้ว