คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
"ว๊ายตาเถร!" เสียงร้องตกใจของน้องอ้อยแคดดี้คู่ใจคุณชูสง่าดังลั่นกรีน เพราะถูกกระโจนเข้ากอดอย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว
"เฮียลุกเร็วไปเลยเซจะล้มน่ะหมอ" หัวหน้ากรีนรีบแก้ตัวก่อนจะถูกมองเป็นเฒ่าหัวงู เรื่องของเรื่องก็คือผู้เฒ่านั่งยองๆ ลงไปเล็งลูกแล้วรีบลุกเลยเกิดอาการความดันตกหน้ามือตาลายเซไปหาหลักเกาะ
"อาการ Dehydrate เพราะกินน้ำน้อยเกินไป" พี่หมออธิบาย "เอ้าน้องอ้อยให้น้ำหน่อย"
ผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมดื่มน้ำสะอาดน้อยกว่า 8 แก้วต่อวยัน อาจส่งผลต่อสุขภาพนำมาสู่ภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาการที่แสดงออกถึงภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุคือชีพจรเต้นเร็วกว่า 120 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า ทำให้วิงเวียนศีรษะ เป็นลมง่าย หมดสติ มีภาวะสับสน ปากแห้ง ความยืดหยุ่นขของผิวหนังลดลงมาก แต่มีปริมาณปัสสาวะปกติ เพราะไตไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ในภาวะขาดน้ำ ทำให้ปริมาณปัสสาวะในระยะแรกของภาวะขาดน้ำไม่ลดลงจนกระทั่งเข้าสู่ระยะสุดท้าย ทำให้หัวใจล้มเหลวและไตวาย
ทั้งนี้ภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุมักพบได้ง่าย เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อที่ลดลง ทำให้น้ำในร่างกายผู้สูงอายุลดลงการตอบสนองต่อความกระหายน้ำลดลง ทำให้ดื่มน้ำน้อยร่างกายจึงไม่ได้น้ำชดเชยประกอบกับความเสื่อมของร่างกาย เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ สมองเสื่อม ทำให้ดื่มน้ำน้อยลงและไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 40 เป็นโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ซึ่งต้องได้รับยาขับปัสสาวะ ทำให้น้ำในร่างกายน้อยลงและปัญหาช่องปากทำให้ไม่อยากอาหาร ปัญหาด้านสายตาทำให้มองเห็นไม่ชัดเจนจึงไม่อยากไปจัดหาน้ำดื่มและที่สำคัญคือผู้สูงอายุที่มือสั่นหยิบจับหรือกำไม่ได้ จึงไม่สามารถดื่มน้ำได้ด้วยตนเอง ผู้ดูแลจึงควรจัดน้ำให้ทานวันละ 8 แก้วและกระตุ้นให้ดื่มน้ำทุกชั่วโมง โดยให้ดื่มเครื่องดื่มที่ชอบ แต่งดเครื่องดื่มที่หวานจัด รวมถึงจัดหาแก้วที่มีหูจับหรือสะดวกในการใช้งาน หรือให้ดูดจากหลอดและควรให้ดื่มครั้งละแต่น้อยเพื่อป้องกันการสำลัก ส่วนการกินยาและอาหารให้ดื่มน้ำอย่างน้อย 1 แก้วนอกจากนี้ผู้สูงอายุควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากพบโรคควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ