xs
xsm
sm
md
lg

ทัวร์เน่า กลับมาอื้อฉาวอีกหน / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

ผมปฏิเสธการเขียนถึง เลอ ตูร เดอ ฟร้องส์ (Le Tour de France) การแข่งขันจักรยานทางไกลที่ได้รับการยอมรับว่ายิ่งใหญ่และหฤโหดที่สุดในโลกมานานมากแล้ว ตั้งแต่ได้ทราบว่าแฟนกีฬาทั่วโลกโดนแหกตามาตลอด เพราะนักปั่นหลายคนที่คว้าชัยมาอย่างยิ่งใหญ่ต่างก็ถูกเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า พวกเขาแอบใช้สารกระตุ้น

องค์กรต่อต้านการใช้สารกระตุ้นโลก หรือ วาดา ( World Anti-Doping Agency – WADA ) ได้ให้ความหมายการใช้สารกระตุ้นว่า เป็นการใช้สารหรือใช้วิธีทางการแพทย์เพื่อเพิ่มสมรรถนะทางร่างกายหรือจิตใจอย่างผิดธรรมชาติ เช่น เพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดง การเต้นของหัวใจ หรือแม้แต่เพิ่มความมั่นใจในตนเอง ซึ่งก็มีการกำหนดรายชื่อสารหรือวิธีการที่เข้าข่ายเป็นสารกระตุ้นต้องห้ามเอาไว้ เพราะการใช้สารกระตุ้นหรือวิธีการบางอย่างนั้น เป็นการเอาเปรียบคู่ต่อสู้โดยใช้วิธีการที่คนอื่นๆไม่อาจเข้าถึงได้ ผลการแข่งขันก็ย่อมไม่ได้มาจากโอกาสที่เท่าเทียมกัน ผิดเจตนารมณ์ของการแข่งขันกีฬา

นอกจากนั้น การใช้สารกระตุ้นยังอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายที่อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น เกิดอาการหัวใจล้มเหลวในกลุ่มที่ใช้สารประเภทสเตียรอยด์ หรือพวกที่ใช้วิธีถ่ายเลือดของตนเองเก็บเอาไว้และฉีดกลับเข้าไปในร่างกายช่วงการแข่งขันซึ่งเรียกว่า บลัด โด๊พพิ่ง (Blood doping) และยาบางประเภททำให้เกิดโรคมะเร็ง อีกทั้ง สารหลายชนิดเมื่อใช้แล้วเสพติด นักกีฬาหลายคนมักได้รับคำแนะนำผิดๆจากคนรอบข้าง หรือทั้งๆที่รู้ก็ยังพร้อมเสี่ยงเพื่อให้ได้ชัยชนะ

ความจริงเรื่องการใช้สารกระตุ้นเพื่อเพิ่มสมรรถนะของนักปั่นจักรยานนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ยุคแรกๆของ เลอ ตูร เดอ ฟร้องส์ แล้ว นั่นคือตั้งแต่สิ้นศตวรรษที่ 19 ยุคนั้นยังไม่มีใครตระหนักถึงเรื่องนี้ ในปี 1924 มีการเปิดเผยทางหน้าหนังสือพิมพ์อย่างเป็นทางการ โดยนักปั่นเองยอมรับว่าต้องใช้สารกระตุ้นเพื่อระงับความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงเส้นชัยเลยทีเดียว ในยุคปี 1950 แอมเฟตามีน (Amphetamine) ที่โลกรู้จักมาตั้งแต่ปี 1887 จากการสังเคราะห์ด้วยฝีมือของ ลาซาร เอเดลานู (Lazăr Edeleanu) นักเคมีชาวโรมาเนีย เชื้อสายยิว ที่ทำงานในมหาวิทยาลัย แบรลิน เจอรมานี แพร่หลายทั่วไปและก็มีการเปิดเผยว่า 75% ของบรรดานักปั่นจักรยานล้วนใช้สารกระตุ้นกันทั้งนั้น

บ่อยครั้งที่แพทย์พบหลักฐานอุปกรณ์การใช้สารกระตุ้นในห้องพักนักกีฬา มีบ่อยครั้งที่นักกีฬาแสดงอาการไม่ดีออกมา บางครั้งระหว่างปั่นขึ้นเขาก็รู้สึกอาการไม่ดี บางคนปวดแขนอย่างหนักเพราะฉีดแคลเซี่ยมเข้าเส้นเลือดดำ บางคนร่วงกลางคันและได้รับบาดเจ็บจนกลายเป็นอัมพาตต้องจบอาชีพปั่นจักรยานไปเลย บางครั้งนักปั่นต้องถอนตัวพร้อมกัน 10 กว่าคนเพราะเมื่อคืนก่อนต่างก็อาเจียรขนาดหนัก นั่นทำให้ยุคปี 60 เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่การแข่งขัน และนักการเมืองเริ่มมีความกังวัลกับปัญหาการใช้สารกระตุ้น

จากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ในปี 1965 จึงเริ่มมีกฎหมายห้ามใช้สารกระตุ้น และมีผลบังคับใช้ในการแข่งขันในปีรุ่งขึ้น ซึ่งนักกีฬาจำนวนมากประท้วงต่อต้านกฎหมายนี้ และถึงแม้จะมีการตรวจพบการใช้สารกระตุ้นในหมู่นักกีฬาอย่างมากมาย แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ยุคปี 1970 และ 80 นักกีฬาใช้สารกระตุ้นกันอย่างสบายใจ เล่ห์เหลี่ยมที่นิยมในยุคนั้นคือ ใช้ผลปัสสาวะของเพื่อนหรือซ่อนถุงบรรจุปัสสาวะที่ไม่ปนเปื้อนสารกระตุ้นไว้ใต้รักแร้และต่อท่อลงมา อย่างไรก็ตาม ผู้ชนะแต่ละสเตจ หากมีผลการตรวจเป็นบวก อย่างมากก็แค่โดนลงโทษปรับแช้มพ์สเตจนั้น แต่ยังมีสิทธิ์แข่งต่อ ยุคนั้น ใครโดนตรวจพบก็แค่โดนปรับโทษเวลา 10 - 15 นาที

เรื่องอื้อฉาวขนาดหนักเกิดขึ้นในปี 1998 ทีมเฟ้สตีนา (Festina) ถูกจับการขนสารกระตุ้นที่ด่านตรวจชายแดนก่อนการแข่งขันไม่กี่วัน ยุคปี 2000 แล้นส์ อาร์มสตรอง (Lance Armstrong) นักปั่นชาวอเมริกา ผู้พิชิตโรคมะเร็ง คว้าชัย เลอ ตูร เดอ ฟร้องส์ 7 สมัยซ้อน (1999-2005) แต่ก็ถูกยึดตำแหน่งคืนในปี 2012 เมื่อถูกเปิดเผยเรื่องการใช้สารกระตุ้น เลอ ตูร เดอ ฟร้องส์ 2020 ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทีม อารเกอา-ซัมซิค (Arkéa-Samsic) ของ ฝรั่งเศสแท้ๆ ก่อเรื่องอื้อฉาวอีก สมาชิก 2 คนในทีมถูกกักบริเวณและถูกสอบสวนเรื่องราวการใช้สารกระตุ้น เรื่องเน่าๆที่ยังไม่ยอมจบนี้เป็นเหตุให้ผมเลิกให้ความสนใจ เลอ ตูร เดอ ฟร้องส์ มาหลายปีแล้วครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น