xs
xsm
sm
md
lg

ผู้พิทักษ์ความยุติธรรมยังต้องร้องหาความยุติธรรมเสียเอง / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เรื่องของอำนาจในการพิจารณาตัดสินอะไรก็ตามที่มันต้องตกอยู่ในกำมือของคนๆเดียว มันไม่ดีทั้งนั้น เพราะหากผู้กุมอำนาจคนนั้นดันมีจิตวิปริต ฟั่นเฟือน เลอะเทอะ เฟอะฟะ ฝีมือยังไม่ถึงขั้น ยังไม่ทันเกม ขาดความรู้ ด้อยความสามารถ หรือมีจิตทุรยศ โลภทุจริต รับงานเพื่อรับเอาผลประโยชน์เข้ากระเป๋า การตัดสินที่ตนทำหน้าที่ก็จะผิดเพี้ยนเกิดผลเสียหายในวงการต่างๆมากมาย

ในประเทศไทย ขนาดผู้พิพากษายังมีข่าวออกมาร้องหาความยุติธรรม เพราะถูกแทรกแซงในการตัดสินคดี ถึงกับต้องตัดสินใจยิงตัวเองถึง 2 ครั้ง 2 คราจนได้ตายสมใจ ผมจึงว่า เรื่องการพิจารณาตัดสินอะไรก็ตามมันคงต้องเปลี่ยนระบบให้มีคนหลายคนเป็นกลุ่มใหญ่เข้ามาช่วยกันดู มันจะได้ช่วยตัดปัญหาการตัดสินอย่างไม่ชอบมาพากลออกไป นี่ถ้ามีอำนาจ ผมก็ว่าจะเปลี่ยนกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็น ระบบลูกขุน จะว่าไปแล้ว คณะกรรมการของรัฐทุกคณะก็อยากให้มีประชาชนคนธรรมดาจับสลากเข้าไปนั่งอยู่ด้วยซะเลยสักคณะละ 2-3 คนจะได้ใช้สามัญสำนึกพิจารณาความถูกต้อง

ในวงการฟุตบอลไทยนั้น การตัดสินที่ผิดเพี้ยนเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ผู้ตัดสินที่รับงานมามีไม่น้อย โดยทั่วๆไป ผู้ตัดสิน ที่ทำหน้าที่ตัดสินเกมในสนามจะเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุด มีสิทธิ์ขาดในการชี้เป็นชี้ตายพิจารณาตัดสินเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสนาม เขาจึงนิยมจ้างผู้ตัดสินคนเดียวล้มบอลก็เพียงพอ แม้จะมี ผู้ช่วยผู้ตัดสิน (Assistant Referee - AR) หรือเดิมเรียกว่า Linesman ที่ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับเส้นวิ่งไปมาตรงริมเส้นทั้ง 2 ข้าง บางครั้งผู้ช่วยผู้ตัดสินอาจอยู่ใกล้เหตุการณ์หรืออยู่ในมุมที่มองเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจนกว่าผู้ตัดสินด้วยซ้ำ แต่ก็ทำได้แค่ส่งสัญญาณบอก ซึ่งผู้ตัดสินจะเข้าไปปรึกษาหรือไม่ก็ได้ และเมื่อได้รับฟังแล้วจะเชื่อหรือไม่ก็ได้อีก ผู้กำกับเส้นไม่มีสิทธิ์ไปบังคับเสียด้วย

แม้ว่าในการแข่งขันแต่ละนัดจะมีเจ้าหน้าที่อื่นๆรวมเป็นทีมงานอยู่ด้วย ทั้ง ผู้ตัดสินที่ 4 (4th Official) หรือ (Replacement Referee - RR) เจ้าหน้าที่คนที่ 5 (Reserve Assistant Referee - RAR) แล้วยังมี ผู้ช่วยผู้ตัดสินเพิ่มเติม (Additional Assistant Referee - AAR) ที่คอยช่วยอยู่ตรงหลังเส้นประตูทั้ง 2 ข้าง ผู้ประเมินผู้ตัดสิน (Referee Assessor) ผู้ควบคุมการแข่งขัน (Match Commissioner) แต่ถ้าการตัดสินที่ไม่ปกติจะเกิดขึ้น มันก็ยังอยู่ในกำมือของผู้ตัดสินกลางสนาม ใครจะไปทำอะไรได้ อย่างมากก็แค่เขียนรายงาน

ในปัจจุบัน มีการนำวีดิโอเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้ตัดสินโดยมีเจ้าหน้าที่อีกชุดใหญ่นั่งเฝ้าจอมอนีเต้อร์อยู่ในห้องปฏิบัติการวีดิโอ นั่นคือ ผู้ช่วยผู้ตัดสินด้วยวีดิโอ (Video assistant referee - VAR) แต่ก็กำหนดให้ใช้พิจารณา 4 กรณีเท่านั้นคือ 1. ลูกเข้าประตูหรือไม่ และการทำประตูนั้นมีอะไรผิดกติกาหรือเปล่า 2. สมควรเป็นลูกโทษที่จุดโทษหรือไม่ 3. พิจารณาโทษใบแดงโดยตรง และ 4. ลงโทษถูกคนหรือเปล่า ระหว่างเกมหากตรวจสอบเหตุการณ์แล้วไม่มีอะไรผิดปกติก็ไม่ว่ากัน เรียกว่า Silent check ผู้ตัดสินไม่ต้องหยุดเกมให้เสียเวลา

ในกรณีที่ VAR แจ้งว่ามีเหตุการณ์ที่ควรตรวจสอบทางวีดิโอ ผู้ตัดสินก็ยังเลือกได้ว่า จะกลับคำตัดสินตามคำแนะนำของ VAR หรือผู้ตัดสินจะไปดูภาพเหตุการณ์ซ้ำที่จอด้วยตนเอง หรือผู้ตัดสินจะเลือกปัดทิ้งไปเลย ไม่ต้องไปสนใจคำแนะนำของ VAR ก็ได้ อันหลังนี่แหละครับที่น่าเป็นห่วง ก็เขามีผู้ตัดสินนั่งเฝ้าจออยู่เป็นโขลง มีโอกาสชมภาพชัดๆกว่าตน อุตส่าห์ทักท้วงมาแล้วยังไม่ยอมตรวจสอบเพื่อหาความถูกต้องอีก มันก็น่าสงสัยจริงๆ

แม้วัตถุประสงค์ในการใช้ VAR จะถูกกำหนดเพียงแค่ 4 ประการที่กล่าวมา แต่ในทางปฏิบัติต้องถือว่า การแข่งขันฟุตบอลในปัจจุบันแต่ละนัดจะมีทีมงานผู้ตัดสินเป็นฝูง มากกว่า 10 คน มีภาพจากมุมชัดๆซูมเข้ามาใกล้ๆจากจอมอนีเต้อร์ในห้องปฏิบัติการวีดิโอ และที่สำคัญ มีเสียงสนทนาระหว่างผู้ช่วยผู้ตัดสินในห้องปฏิบัติการกับผู้ตัดสินกลางสนามตลอดเกม ทั้งที่มีการแนะนำให้กลับคำตัดสินหรือไปตรวจสอบด้วยตนเองจากจอมอนีเต้อร์แล้ว ผู้ตัดสินจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ซึ่งอันนี้ต้องถือโอกาสบันทึกเก็บไว้เป็นหลักฐานการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตัดสินด้วย นั่นจะทำให้การตัดสินเป็นหมู่คณะชุดใหญ่ คราวนี้ใครจะจ้างล้มบอลคงต้องลงทุนจ้างทั้งฝูง หรือหันไปจ้างนักเตะอาจง่ายกว่าครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น